ชีวิตเกษตรกรคนเลี้ยงหมูในช่วงที่ผ่านมาน่าเห็นใจมาก โดยเฉพาะสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ต้องเลิกอาชีพและหายไปจากระบบแล้วกว่า 50-60% ส่งผลให้จำนวนหมูที่เคยมีป้อนตลาดปีละประมาณ 20 ล้านตัว ลดเหลือเพียง 14 ล้านตัว กระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเขียงหมู ผู้บริโภค และร้านอาหารต่างๆ กลายเป็นกระแสหมูแพงให้พูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ถึงกับต้องเลิกอาชีพเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ปีที่ผ่านมาจึงถือเป็นหายนะของคนเลี้ยงหมูโดยแท้ พวกเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้างลองประมวลดูกัน
ประการแรก : ความเสียหายจากโรคระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มใหญ่ กลาง หรือรายย่อย เกิดเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตหมู อัตราเสียหายยิ่งมากเท่าใด ย่อมกระทบกับต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น กลุ่มฟาร์มขนาดเล็กที่ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดี จึงเสียหายไปมากจากกรณีนี้
ประการต่อมา : สืบเนื่องจากปัญหาโรคระบาด เกษตรกรต้องเพิ่มความเข้มงวดด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มีการยกระดับการป้องกันโรค สร้างภาระการดูแลมากขึ้น ทั้งยังต้องจ้างแรงงานในการดำเนินการเพิ่ม การใช้เงินลงทุนไปกับค่าน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่จำเป็น กลายเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นถึง 400-500 บาทต่อตัว และหลังจากนี้ผู้เลี้ยงจะต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานทั้ง GFM-สำหรับฟาร์มขนาดเล็ก GMP-สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ และ GAP ที่กรมปศุสัตว์กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนอีกเป็นจำนวนมาก
ประการที่สาม : อาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลัก 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ แต่ปี 2564 เป็นปีที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกประเภททั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ต้นทุนข้อนี้จึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญให้เกษตรกรคนเลี้ยงหมูต้องเดือดร้อน เช่น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยที่สูงถึง 12.50 บาท/กก. เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่ภาครัฐของไทยให้ความสำคัญกับเกษตรกรพืชไร่ มีการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ช่วยผู้ปลูกพืช โดยมองข้ามภาระต้นทุนที่ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกแทน ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษากันอย่างลึกซึ้ง จึงจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรภาคปศุสัตว์ได้บ้าง
ประการที่สี่ : ในปีที่แล้วหากจำกันได้ เราได้เห็นภาพน้ำท่วมใหญ่ที่มีหมูระดับแม่พันธุ์ลอยคออยู่ในน้ำเป็นจำนวนมาก ซ้ำเติมปัญหาโรคระบาดให้กระจายวงกว้างยิ่งขึ้น นอกหนือจากนี้ยังมีปัญหาฤดูกาลอื่นๆ เช่นอากาศร้อน-แล้ง ที่กระทบต่อตัวสุกรให้อ่อนแอ และไวต่อการเกิดโรค
ประการที่ห้า : เกษตรกรถูกรังแก ในกลุ่มเกษตกรรายย่อยที่ต้องเผชิญความเสียหายและต้นทุนต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นไป 100-120 บาท/ กก. แต่ด้วยความไม่มั่นใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบภาวะโรค ก็มักถูกพ่อค้ารับซื้อสุกรกุเรื่องโรคระบาดมาทุบราคา เกษตรกรบางรายถึงกับยอมขายหมูขาดทุนในราคาเพียง กก.ละ 50 กว่าบาท ทั้งที่ต้นทุนขณะนั้นสูงกว่า 70-80 บาท เพราะหวั่นเกรงโรคจะมาถึงฟาร์มตนเอง
ประการที่หก : ขาดเงินทุน ฟาร์มเกษตรกรที่พอจะวางระบบป้องกันโรคไว้อย่างดีแล้ว พร้อมจะนำหมูเข้าเลี้ยงเพื่อเร่งเพิ่มปริมาณเนื้อหมูในประเทศกลับต้องสะดุดอีกครั้ง จากการงดปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินส่งผลให้การเลี้ยงสุกรต้องหยุดชะงัก นอกเหนือจากที่ต้องขาดทุนสะสมเพราะปัญหาราคาสุกรตกต่ำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ประการที่เจ็ด : ขาดแรงจูงใจ หลายครั้งที่เกิดขาดทุนสะสม เพราะราคาขายหมูถูกควบคุมโดยรัฐ เกษตรกรจำต้องขายหมูในราคาที่รัฐกำหนด กลายเป็นคำถามที่ค้างคาใจเกษตรกรว่า ลงทุนไปแล้วจะสามารถขายหมูได้ตามกลไกตลาดหรือไม่ สิ่งนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดความลังเล และบางส่วนตัดสินใจเลิกอาชีพ
การที่รัฐจะปรับแก้สถานการณ์ของเกษตรกรคนเลี้ยงหมูที่ต้องเผชิญความผิดหวังรอบด้านได้นั้น คงต้องสร้างแรงจูงใจและลดอุปสรรคในอาชีพให้มากที่สุด และอย่างรวดเร็วด้วย เพราะการเลี้ยงหมูให้โตพอป้อนตลาดได้ต้องใช้เวลาร่วม 1 ปี และในฟาร์มที่เคยประสบปัญหาเรื่องโรคกว่าที่เกษตรกรจะสามารถเริ่มต้นเลี้ยงหมูใหม่ได้ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน ภายใต้การบริหารจัดการและป้องกันโรคอย่างเข้มข้น
ปี 2564 เป็นปีแห่งหายนะของเกษตรกรคนเลี้ยงหมู ปี 2565 จึงเป็นความหวังใหม่ที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐ และความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึง ผู้บริโภค เมื่อนั้นเกษตรกรก็พร้อมจะกลับมาเลี้ยงหมู สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยได้อีกครั้ง