นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธ.ค.2564 เท่ากับ 101.86 เทียบกับเดือนพ.ย.2564 ลดลง 0.38% เทียบกับธ.ค.2563 เพิ่มขึ้น 2.17% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่ประมาณการณ์ไว้ที่ 0.8-1.2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.73 เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2563 และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.23
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธ.ค.2564 เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าที่สำคัญหลายรายการ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 26.26% แม้รัฐบาลจะช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ราคาขายปลีกในประเทศยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีราคาค่อนข้างต่ำ เนื้อสุกร เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง ทั้งค่าอาหารสัตว์ ค่าดูแลและการป้องกันโรคระบาด ผู้เลี้ยงรายย่อยลดการเลี้ยง
ทำให้หมูเข้าสู่ตลาดลดลง ขณะที่ผักสด เช่น มะเขือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมันปาล์ม ราคาขึ้นตามวัตถุดิบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม สูงขึ้นหลังสิ้นสุดโปรโมชัน บุหรี่ สูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต
ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว จากผลผลิตที่มีมากขึ้น ผลไม้ เช่น เงาะ ส้มเขียวหวาน น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป ที่ลดลงจากการกระตุ้นการขาย เสื้อผ้า ค่ากระแสไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ค่าเช่าบ้าน และค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคล ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ
สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต
“คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 เดิมคาดไว้ว่าจะอยู่ในช่วง 0.7-2.4% มาวันนี้ ผ่านมา 1 เดือนมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อทั้งปี 2565 มีอัตราแตกต่างจากเดิม สนค. จึงยังยืนยันเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ไว้ตามที่ประเมินเอาไว้เดิม โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.5%”
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในปีนี้ มาจากแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต และความต้องการด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบ มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาท และการขาดแคลนแรงงาน และยังต้องจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน