ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามผู้นำภาคเอกชนเพื่อสะท้อนมุมมอง 1 ปีของการบริหารประเทศของรัฐบาล ว่ามีผลงานอะไรที่สอบผ่าน หรือเข้าตากรรมการ และที่ยังสอบไม่ผ่าน พบหลายเรื่องที่ได้รับคำชื่นชม และมีหลายเรื่องเช่นกันที่ยังไม่เข้าเป้า และต้องเร่ง
โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า ปี 2564 ที่ผ่านพ้นไปถือเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย จากการระบาดของโควิด-19 เมื่อกลางปีจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายใน ปี 2564 เป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมว่าวันนี้สามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศ และยังมีแผน Boost เข็ม 3 เพิ่มเติม เพื่อการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์ใหม่
หากพิจารณาในรอบปีมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ดี เช่น ด้านการส่งออกที่สามารถผลักดันการขยายตัวเกินเป้าหมาย จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปีที่ 4% แต่สุดท้ายแล้วทั้งปี 2564 น่าจะขยายตัวได้ถึง 15% ตรงตามที่ภาคเอกชนคาดการณ์ไว้
ด้านการท่องเที่ยวจากการรัฐบาลที่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือทั้งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการ “ประชุมช่วยชาติ” และได้รับการตอบรับจากประชาชนในการใช้มาตรการโดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา การเดินทางในประเทศกลับมาคึกคักมากขึ้น แต่ในฝั่งผู้ประกอบการยังคงฟื้นตัวได้ช้า เพราะกระทบหนักจากการล็อกดาวน์และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศยังน้อย
หลังจากนี้สายพันธุ์โอมิครอนจะเป็นความท้าทายใหม่สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงการดูแลการจ้างงานซึ่งจะช่วยประคองผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ โดยปี 2565 ประเมินสถานการณ์ว่าไตรมาสแรกอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อย ๆ ทยอยเข้าประเทศและหากสถานการณ์โอมิครอนคลี่คลายลงจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 5-6 ล้านคน
ด้านปัญหาปากท้องลดค่าครองชีพประชาชน ถือว่ารัฐบาลทำมาได้ดีในระดับหนึ่ง หลายโครงการมีเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการที่ดี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ตอบโจทย์ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งช่วยให้เม็ดเงินกระจายสู่พื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ลดค่าครองชีพและกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงที่มีการนำมาตรการมาใช้พบว่า เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พัทยา เลย เขาใหญ่ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่า หลายมาตรการที่กล่าวมามีส่วนช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นผลเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม หลายมาตรการที่รัฐบาลได้นำเสนอออกมาไม่เข้าเป้าและไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้เท่าที่ควร จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์กับสภาพปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น มาตรการเยียวยาทั้งผู้ประกอบการและประชาชน หลายเรื่องเป็นแนวคิดที่ดี แต่ติดขัดขั้นตอนการปฏิบัติจนทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย เช่น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้, โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ โครงการสินเชื่อซอฟต์โลน โดยที่ SME เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเท่าที่ควร หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สามารถยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน และลดขั้นตอนพร้อมกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นลง จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการรักษาการจ้างงานด้วย
ส่วนนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) มองว่า โครงการที่รัฐบาลทำได้ดีและเห็นผลรูปธรรม เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการคนละครึ่ง ส่วนการจัดหาและฉีดวัคซีนช่วงแรกๆ มีความล่าช้า แต่ ณ วันนี้ก็สามารถฉีดได้ครบ 100 ล้านโดสแล้วตามเป้าหมาย
สอดคล้องกับนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ระบุว่า การจัดหาและฉีดวัคซีนปีที่ผ่านมาช่วงแรก ๆ รัฐบาลสอบไม่ผ่าน เพราะตั้งหลักได้ช้า และการคัดเลือกยี่ห้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนยังมีประสิทธิภาพที่ดีนัก แต่ช่วงหลังรัฐบาลก็ปรับแผนเรื่องวัคซีนได้ดี มีความหลากหลายยี่ห้อและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ที่ยังสอบไม่ผ่านคือการแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี เป็นต้น
อย่างไรก็ดีผู้นำสถาบันหลักภาคเอกชนได้ให้มุมมองที่สอดรับกันในเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในปี 2565 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิในเข็มที่ 3 (เข็มบูสเตอร์) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนไทยในการป้องกันเชื้อโควิด การเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้เยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่โครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็นเพียงมาตรการที่จะขยายเฟสดำเนินการเพิ่มในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เท่านั้น รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมมาอีกในไตรมาสที่ 2-4 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายและสะดวก ลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคให้มากขึ้น เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศเป็นรายย่อย หากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้จะกระทบต่อการฟื้นตัวของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มุมมองและเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน 1 ปีผลงานรัฐบาล เรื่องสอบผ่านและเรื่องที่ทำได้ไม่เข้าเป้าเหล่านี้รัฐบาลต้องรับฟังและนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2565 นี้ เพื่อเคลื่อนประเทศไทยให้ดีกว่าเก่า