“คมนาคม” ดันแผนลงทุนบิ๊กโปรเจคต์ ปี 65 โกยรายได้ 4 แสนล้าน

20 ม.ค. 2565 | 05:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 13:18 น.

“คมนาคม” เดินหน้าแผนลงทุนปี 65 ราว 1.4 ล้านล้าน เร่งประมูลบิ๊กโปรเจคต์รถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์ ดึงเอกชนร่วมทุน ฝ่าโควิด-19 หวังกระตุ้นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน เชื่อมการเดินทางไร้รอยต่อ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน Thailand Future Smart ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่กระทรวงคมนาคมยังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะเครื่องจักรของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณการดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนที่มีการชะลอตัวลง ทำให้เป็นภาระของภาครัฐที่ต้องดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2558-2578) โดยกระทรวงมีเป้าหมายการลงทุนภายในประเทศเพื่อลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง โดยในปี 2565 มูลค่าการลงทุน รวม 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 154,000 ตำแหน่ง วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ 1.24 ล้านล้านบาท มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มูลค่า 4 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 2.35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

 

 

 

 สำหรับการดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย ดังนี้ ด้านการพัฒนาขนส่งทางราง โดยกระทรวงมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กม. ปัจจุบันมีการเปิดให้บริการแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กม. คิดเป็น 50%ของแผนแม่บท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนนิการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดให้บริการปี 2566 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดให้บริการปี 2566 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี คาดว่าจะดำเนินการเสร็จเดือน ธ.ค.2568 4.แอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จะเปิดให้บริการ ปี 2570

 

 

 นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนอีก 4 เส้นทาง มีแผนศึกษารูปแบบการลงทุนและเปิดประมูล ที่จะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 3.โครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช และ 4.โครงการรถไฟสายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และบางซื่อ-หัวลำโพง

 

 

ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนารถไฟทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟ ทั้งในส่วนของรางรถไฟเดิม และการก่อสร้างเส้นทางใหม่ โดยในปี 2565 มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรกจะแล้วเสร็จทั้งสิ้น 1,111 กิโลเมตรทั่วประเทศ รวมทั้งการเดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทาง 678 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1.เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. 2.เส้นทาง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. ทั้งนี้กระทรวงมีแผนเสนอขอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 7 โครงการ ระยะทางรวม 1,483 กิโลเมตร ทำให้ไทยจะมีเส้นทางรถไฟทางคู่มากกว่า 3,200 กิโลเมตร ทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีโครงการท่าเรือบก (DryPort) ซึ่งเป็นโครงการคู่ขนานกับรถไฟทางคู่ ที่จะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา โดยได้จัดแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบกเสร็จแล้ว ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน (PPP)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในปี 2565 มี 2 โครงการหลักที่กำลังเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง งบประมาณ 179,412 ล้านบาท เปิดให้บริการในปี 2569 และ2.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2565 และกำหนดเปิดให้บริการในปี 2571

 

 

 ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. ปัจจุบันได้มีการส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้กับเอกชนแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างคาดจะเสร็จปี 2571 ทั้งนี้กระทรวงมีแผนศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 40 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ยังมีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุน 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน 3.เส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 424 กม. และ4.เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 335 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนความเหมาะสมในการดำเนินการ

 

“คมนาคม” ดันแผนลงทุนบิ๊กโปรเจคต์ ปี 65 โกยรายได้ 4 แสนล้าน

 

ในอนาคตกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคของไทย ที่จะช่วยทั้งการกระจายรายได้และลดต้นทุนการขนส่งทางถนน ประกอบด้วย 1.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์ ) อยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569 2. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงวงแหวนตะวันตก บางขุนเทียน-บางบัวทอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารูปแบบผู้ร่วมลงทุน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 3.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างโครงการแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2568

ขณะที่ด้านการพัฒนาขนส่งทางอากาศนั้น ปัจจุบันไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวโลก โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประมาณการนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ไทยในปี 2574 จำนวน 200 ล้านคน จากปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย จำนวน 60-70 ล้านคนต่อปี ทำให้กระทรวงต้องดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิที่ได้ลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (เทอมินัล2) และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก รวมทั้งการพัฒนาทางวิ่งเส้นที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2567  ส่วนสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะเปิดให้บริการปี 2570  ขณะที่สนามบินอู่ตะเภา เปิดให้บริการปี 2567 สามารถรองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคนต่อปี  และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายหลุมจอด และลานจอด รวมทั้งสาธารณูปโภคให้รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2570  ช่วยรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ 

 

“คมนาคม” ดันแผนลงทุนบิ๊กโปรเจคต์ ปี 65 โกยรายได้ 4 แสนล้าน


ทั้งนี้ด้านความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์)  ชุมพร-ระนอง ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลให้กับประเทศ โดยเป็นการสร้างท่าเรือระนองในฝั่งอันดามันและท่าเรือชุมพรในฝั่งอ่าวไทย เชื่อมต่อกับMR-MAP ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและจะเริ่มดำเนินโครงการฯได้ภาบใยกลางปี 2565 จากการศึกษาจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนในพื้นที่และประเทศไทยประมาณ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 460,000 ล้านบาท  ทำให้การเดินทางผ่านโครงการฯ ดังกล่าว ช่วยลดระยะเวลาการเดินเรือ ผ่านช่องแคบมะละกาลงได้ถึง 4 วัน