ธรรมนัสถูกขับจากพรรค พปชร. ส.อ.ท.ห่วงกระทบเสถียรภาพรัฐบาลซ้ำเติมเศรษฐกิจ

20 ม.ค. 2565 | 08:31 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 15:31 น.

ธรรมนัสถูกขับจากพรรค พปชร. ส.อ.ท.ห่วงกระทบเสถียรภาพรัฐบาลซ้ำเติมเศรษฐกิจ แนะจับตาการโหวตในสภาขี้ทิศทางรัฐบาล ระบุเวลานี้ภาพรวมเศรษฐกิจมีปัญหาหนักอยู่แล้ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ประเด็นที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพปชร. พร้อมด้วยส.ส. รวมเป็น 21 คน ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น  หากจะมองเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมคงจะเร็วเกินไปที่จะประเมินในเวลานี้

 

 

 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามหลังจากนี้ก็คือ การแยกตัวออกไปของ ร.อ.ธรรมนัส จะยังคงให้การสนับสนุน พชปร. หรือไม่ ในการออกคะแนนเสียงในสภาฯ เวลาที่มีการโหวตกฎหมายสำคัญ

 

 

หรือจะโหวตแตกต่างออกไป หากแค่เป็นการแยกออกแต่ยังสนับสนุนพรรคเหมือนเดิมก็ไม่มีประเด็นอะไรน่าเป็นห่วง แต่หากโหวตไปในทิศทางตรงข้ามก็น่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

 

"หากเป็นไปตามแผนแค่แยกกันอยู่  แต่ยังสนับสนุน พปชร. เหมือนเดิมทุกอย่างลงตัวหมด  ไม่มีปัญหาก็เป็นแค่เกมส์ทางการเมือง  และไม่ส่งผลกระทบเท่าใดนัก แต่หากการเมืองไม่เป็นไปตามที่ตกลง  หรือตามที่มีข่าวเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี  แล้วตกลงกันไม่ได้  ถ้าพรรคใหม่ของ ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้เรื่องตำแหน่ง จะส่งผลทำให้เสียงสนับสนุนในการยกมือเรื่องกฎหมาย  หรือการประชุมอาจจะไม่ราบรื่น  อาจจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอ่อนแอลง  มีความเปราะบางมากขึ้น"

 

 

 

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสได้ตำแหน่งตามที่เป็นข่าว ก็จะต้องจับตาดูท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่าให้การยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี  หากไม่ยอมรับย่อมส่งกระทบแน่นอน

 

 

โดยหากการเมืองอยู่ในช่วงการผลัดเปลี่ยนไม่มีความมั่นคง  หรือมีความเปราะบางมาก  จะทำให้การทำงานของภาครัฐในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาปากท้อง หรือเรื่องอื่นเสียสมาธิ ขาดพลังในการร่วมแรงร่วมใจ

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปอีกว่า ความจริงแล้วก่อนหน้าที่จะมีกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส ภาวะเศรษฐกิจก็มีสถานะที่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น จากข้าวของที่แพง และการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 (covid-19) เริ่มคลี่คลาย  เพราะฉะนั้นในทุกอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ก็กำลังต้องฟื้นตัว

 

 


โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก็ยังมีผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อจากต่างประเทศ หรือลูกค้าของไทยอาจจะมีปัญหา  ขณะที่โอมิครอน (Omicron) ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากทำให้ของชิ้นส่วนต่างๆ สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆเริ่มมีปัญหา เรื่องการขาดแคลนบางอุตสาหกรรม ก็จะส่งผลกระทบ 

 

 

 

ส่วนภาคบริการ หรือท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  หากโอมิครอนสามารถควบคุมได้  ไม่ระบาดมาก และไม่รุนแรง  ซึ่งเวลานี้ก็พยายามลุ้นว่า ต้องการให้ภาครัฐกลับมาใช้ระบบ Test & Go เพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น  เดิมมีการตั้งเป้าว่าปีนี้จะเข้ามาประมาณ 15 ล้านคน เมื่อมีโอมิครอนลดเหลือ 6 ล้านคน  

 

 

โดยหากโอมิครอนไม่รุนแรง และยอมให้มี Test & Go อาจจะทำให้มีนักท่องเที่ยวปีนี้ขึ้นไปถึง 8 ล้านคน  ซึ่งก่อนที่จะมีประเด็นเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส ภาคเศรษฐกิจก็มีปัญหา และความท้าทายอยู่แล้ว

 

 

 

"ด้วยลำพังสิ่งที่มาจากปัจจัยภายนอก  การแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เรื่องโรคระบาดขณะนี้เป็นปัญหาทางเศราฐกิจที่หนักกว่า"  

 

 

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สิ่งที่เรากลัวมากกว่านั้นคือ สถานการณ์จากต่างประเทศ ราคาน้ำมันโลกจะทะลุ 100 เหรียญอย่างที่คาดการณ์หรือไม่  ซึ่งจะทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก  

 

 

และกระทบไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในภาวะที่ขณะนี้ของกินของใช้แพงหมด  ขณะที่รายได้ไม่มาก  ไม่เพิ่ม บางคนยังตกงาน  มีหนี้ครัวเรือน 80-90% เรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจมาก  ถ้าการเมืองนิ่งลงตัวหมดก็ไม่น่ามีปัญหา  แต่ถ้าไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป