นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุดรธานี ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ ภายใต้ชื่อกลุ่ม”นคราธานี” เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ททท.ได้รวมกลุ่มเพื่อสร้างการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยง
แนวทางนี้เพื่อเป็นการสร้างความจดจำถึงเอกลักษณ์พื้นที่ ในความเป็นดินแดนแห่งศรัทธาองค์พญานาค เส้นทางความเชื่อศรัทธา ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรมประเพณีถิ่น โดยพันธมิตรในเครือข่ายการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ใช้ขับเคลื่อนการตลาดไปในทิศทางเดียวกัน
ในปี 2565 นี้ ทาง ททท.สำนักงานอุดรธานี มีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกแนวทางหนึ่งอย่างต่อเนื่องต่อจากปี 2564 ที่ผ่านมา ของกลุ่มจังหวัด”นคราธานี” เน้นเส้นทางนคราธานี BCG Tourism และ Happy Model
เป็นการสร้างการท่องเที่ยวแบบลดโลกร้อน ในการออกแบบคัดเลือกสินค้า เพื่อนำเสนอในรูปแบบใหม่ ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้น และแตกต่างจากเดิม นำเอาสินค้าการท่องเที่ยวทั้ง 3 มิติได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี มาผสมผสานกับการการท่องเที่ยวแบบใหม่ลดโลกร้อน
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแบบ BCG Tourism คือ B= Bio Innovative Tourism ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศชีวภาพสู่สุขสมดุล เสาะแสวง สร้างสรรค์ ด้วยการใช้อาหารท้องถิ่น หรืออาหารศาสต์สู่สุขสมดุล ชูประวัติศาสตร์ ตำนาน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
C=Circlar Lifestyle Tourism เป็นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดมีคุณค่า จัดการขยะสู่ขยะเป็นศูนย์ สร้างสรรค์โอกาสงานใหม่จากของเหลือ สร้างคืนระบบนิเวศ และ
G หรือการท่องเที่ยวสีเขียว โดยมุ่งสู่ Carbon Neutral Tourism เป็นการท่องเที่ยวแบบลดโลกร้อน ด้วยการเลือกจัดการกิจกรรมคาร์บอนต่ำ วางแผนวัด ลด ชดเชย มุ่งสู่กิจกรรมปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ส่งเสริมโครงการคาร์บอนให้เกิดในชุมชน
สิ่งที่ ททท.สำนักงานอุดรธานีได้ดำเนินการไปแล้ว ภายใต้แผน BCG Tourism และ Happy Model คือ 1.กิจกรรมปักหมุดบินเยือนถิ่นนคราธานี ร่วมกับสายการบินไทยสมายส์และพันธมิตรในพื้นที่ 2.กิจกรรมเสวนาออนไลน์นคราธานี ในหัวข้อ BCG Tourism เส้นทางอีสาน 3 แนว อุดรธานี-หนองคาย-บึงกาฬ 3.เปิดเส้นทางขับรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV เที่ยวอุดรธานี วิถีลดโลกร้อน 4.เปิดเส้นทางนคราธานี BCG มินิคาราวาน เป็นการเดินทางในรูปแบบของคาราวานขนาดเล็ก
ส่วนที่จะดำเนินการต่อคือ แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าของกลุ่มจังหวัด”นคราธานี” เน้นเส้นทางนคราธานี BCG Tourism และ Happy Model การท่องเที่ยวแบบลดภาระ ลดโลกร้อนต่อโลก ส่วนในภาพรวมก็ดำเนินการตามนโยบายแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวของระดับภาค และแนวทางของการท่องเที่ยวแห่งประเทศในหลาย ๆ โครงการ เช่น เที่ยวด้วยกัน การท่องเที่ยวเมืองรอง การท่องเที่ยวอีสานดินแดนของความศรัทธาเชื่อถือ หรือการท่องเที่ยวอีสาน Unsen 3 จังหวัดกลุ่ม”นคราธานี”
ส่วนการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมากับขบวนรถไฟจีน-ลาว ที่เปิดให้บริการแล้วนั้น ททท.สำนักงานอุดรธานี เตรียมการ
1.ร่วมกับกองตลาดอาเซียน และททท.สำนักงานที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน โฆษณาประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ ไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน และเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย
2.ร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่และสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างการรับรู้ และนำไปสู่การเสนอขาย
3. บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันอบรมเตรียมบุคลากร เตรียมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด
ส่วนในพื้นที่ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่และพันธมิตรเครือข่ายการท่องเที่ยว เตรียมพัฒนาบุคลากร สถานที่แหล่งท่องเที่ยวให้ผ่านมาตรฐาน SHA Plus เพื่อรองรับการท่องเที่ยวมาตรฐานในอนาคต และการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อลดโลกร้อน ที่กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง ทำตลาดการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยง ทั้งระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด จังหวัดกับกลุ่มจังหวัด รวมไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ-กับประเทศ ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำการตลาด เช่นการเปิดการขายแบบออนไลน์สามารถเชื่อมโยงไปได้ทั่วโลก
“ ททท.กลุ่มนคราธานีที่ประกอบด้วยอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ ขอให้ความมั่นใจว่า เราจะเป็นเจ้าบ้านที่ดี ด้วยการเตรียมเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อให้เหมาะสมกับทุกเพศวัย ทั้งในรูแบบส่วนตัวหรือแบบครอบครัว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลควบคุมในด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยภายใต้มาตรการป้องกันรักษาความปลอดภัย ตามวิถีชีวิตใหม่ New Normal และ Next Nomal และมาตรการ SHA Plus “นางธนภรกล่าวทิ้งท้าย
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,751 วันที่ 23-26 มกราคม พ.ศ.2565