นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดแผยว่า การเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยทำให้การค้าของประเทศกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
โดยด้านการส่งออกนั้นหากดูสัดส่วนการค้า ในปี 2564 ไทยมีการทำการส่งออกไปประเทศซาอุฯ ประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 45,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย (การค้ากับตะวันออกกลาง ประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) หากไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ได้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนทางการค้า การส่งออกไปประเทศซาอุฯ กลับไปที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออกทั้งหมด ได้เหมือนปี 2532 ซึ่งหมายถึงปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 150,000 ล้านบาท
โดยไทยจะสามารถเจาะตลาด ได้ทั้งสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล จิวเวอร์รี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด Medical Hub และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ซาอุฯ ถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนี้จะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยในการส่งสินค้าไป ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯ ทั้งสิ้น
ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยด้วยเช่นกัน ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 ประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคน โดยมาจากตะวันออกกลางประมาณ 7 แสนคน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งนั้น แต่เป็นนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เพียง 36,000 คน ดังนั้น หากมีการเปิดประเทศ มีการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวมาได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯ ก่อนเกิดปัญหา มีจำนวน 73,000 คน (ค่าเฉลี่ยปี 2530–2531) ซึ่งจากการยกเลิกการทำวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวซาอุฯ คาดว่าจะมีการเดินทางมาไทยประมาณ 150,000 คน ต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 13,500 ล้านบาท (คิดจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวซาอุฯ 90,000 บาทต่อราย ในปี 2562)
ด้านตลาดแรงงานไทย ซาอุดีอาระเบียเคยเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในช่วงปี 1970-1980 โดยทางการไทยประเมินว่า ในช่วงนั้นมีแรงงานไทยเดินทางเข้าไปทำงานในซาอุฯ (ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) จำนวนมากถึง 200,000 คน และส่งเงินกลับประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี การกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯ ในครั้งนี้ จะทำให้แรงงานไทยมีโอกาสกลับไปทำงานในซาอุฯ อีกครั้ง เนื่องจากซาอุฯ เอง ก็ยังมีความต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติให้เข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน
เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งนี้ แม้ว่าซาอุฯ จะมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่คนท้องถิ่นก็ไม่ค่อยมีความชำนาญในด้านงานก่อสร้างและงานฝีมือ ทำให้แรงงานไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของซาอุดีอาระเบีย
ดังนั้น เมื่อซาอุดีอาระเบียเปิดโอกาสให้แรงงานไทยขอใบอนุญาตทำงาน (วีซ่า) อีกครั้ง คาดว่าจะทำให้จำนวนแรงงานไทยในซาอุฯ เพิ่มขึ้น จากจาก 10,000 คนในปัจจุบัน เป็น 100,000 คนในระยะ 3 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน ในระยะ 5 ปี เท่ากับปี 2532 ซึ่งจะทำให้มีรายได้ส่งกลับจากแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 4,500-9,000 ล้านบาทต่อปี
ด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)แม้ว่าโอกาสที่ซาอุดีอาระเบียจะขยายการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังประเทศไทยในระยะสั้นอาจจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศถูกฟื้นฟูก็จะมีผลทำให้นักธุรกิจมีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียนำเงินมาลงทุนยังประเทศไทยทั้งในระยะกลาง และระยะยาว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียได้มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนการปฏิรูป Vision 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเพิ่มสัดส่วน GDP จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 65 นอกจากนั้นแผนการปฏิรูปดังกล่าว ยังต้องการเพิ่ม GDP การส่งออก (ในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน) จากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50 พร้อมทั้งวางเป้าหมายที่จะลดอัตราการว่างงาน จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 7 โดยการขับเคลื่อนให้แผนการปฏิรูปฯ เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งไทยและซาอุฯ สนใจลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวในกลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ
นอกจากนั้นทางซาอุฯยังมีโอกาสที่จะย้ายการดำเนินการ Head Quarter ที่ในภูมิภาคนี้มาที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งท้ายที่สุด เมื่อผู้ประกอบการไทยได้กำไรจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว ก็จะส่งกำไรกลับมายังประเทศไทย เป็นรายได้เข้าประเทศต่อไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ภาคเอกชนของไทยต้องใช้โอกาสอันดีนี้ต่อยอดและขยายผล ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อธุรกิจของตเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพรวมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
โดยหอการค้าไทย ได้หารือกับภาคเอกชนของทางซาอุฯ นอกรอบมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมการส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งคาดว่า จะมีการเซ็น MOU ความร่วมมือกัน ต่อ ภายในครึ่งปีแรกนี้ จากการที่ภาครัฐได้ไปเยือนในครั้งนี้