นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การนำเข้ามะพร้าวตามกรอบความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้การนำเข้ามะพร้าวส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศ ตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ประกอบด้วย กรอบความตกลง WTO ในโควตา ปริมาณไม่เกินปีละ 2,317 ตัน ภาษีร้อยละ 20 ให้นำเข้าได้ 6 เดือน คือ ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และกันยายน-ธันวาคม
โดยผู้มีสิทธินำเข้าต้องเป็นโรงงานที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น แต่สำหรับนอกโควตา นำเข้าได้ไม่จำกัดปริมาณ ภาษีร้อยละ 54 ผู้มีสิทธินำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปที่มีใบทะเบียนพาณิชย์และขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี
ในส่วนของกรอบความตกลง AFTA ปริมาณการนำเข้าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ภาษีร้อยละ 0 ผู้มีสิทธินำเข้าต้องเป็นโรงงานและขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี โดยต้องนำเข้าเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำมันพืชหรืออาหารคนในกิจการตนเอง ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ
และห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน โดยผู้นำเข้าต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาวให้กรมการค้าต่างประเทศทราบ และให้นำเข้าช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และกันยายน-ธันวาคม เช่นเดียวกับกรอบความตกลง WTO ในโควตา ทั้งนี้ การนำเข้ามะพร้าวทั้ง 2 กรอบความตกลงดังกล่าว นำเข้าได้เพียง 2 ด่าน คือ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง
"ขอย้ำว่ากรมจะติดตามการนำเข้ามะพร้าวอย่างเข้มงวด โดยต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดข้างต้น โดยเฉพาะประเด็นการไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ และไม่นำไปจ้างกะเทาะภายนอกโรงงานตนเอง ตามกรอบความตกลง AFTA ซึ่งหากพบกระทำผิดกรมฯ จะพิจารณาลงโทษทันที"
ทั้งนี้ ปี 2564 กรมฯ มีการออกหนังสือรับรองฯ ประกอบการนำเข้ามะพร้าวกรอบความตกลง AFTA เพียง 17,274.46 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.72 ของปริมาณรวม โดยราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั่วประเทศปี 2564 อยู่ที่ 12.37 บาท/ผล และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ที่ 18.70 บาท/ผล ซึ่งกรมฯ ยังคงมีการตรวจสอบ และคุมเข้มติดตามการนำเข้ามะพร้าวอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวภายในประเทศ