ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธาน แถลงการจัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจชายแดนภาคเหนือ ร่วมกับ นางสาวปาริชาติ พงค์พันเทา พาณิชย์จังหวัดตาก ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ. 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงและจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการภาคเหนือ 17 จังหวัด จำนวน 60 คูหา, ส่วนเจรจาธุรกิจ โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าของไทย-ลาว-เมียนมา เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมความบันเทิงตลอดการจัดงาน
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทั้งด้านบุคลากร การสร้างอาชีพ การเพิ่มศักยภาพการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน การเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน
รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภาคเหนือพัฒนาศักยภาพ ในการผลิตสินค้าและบริการของตนเองสู่ตลาดการค้าชายแดน - ผ่านแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างความคึกคักในตลาด เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ การค้า และสร้างรายได้ให้กับชุมชน หลังจากที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มายาวนาน
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการสนับ สนุนให้เกิดการเชื่อมโยง และขยายมูลค่าการค้า การลงทุน ของประเทศเพื่อนบ้านและภาคเหนือ อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (แม่สอด, เชียงราย) การสร้างรถไฟความเร็วสูง การขยายรถไฟรางคู่ การสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ เป็นต้น ถือเป็นการพัฒนาและยกระดับการแข่งขัน ให้ภาคเหนือของประเทศเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก เป็นจุดตัดแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันตก- ตะวันออก ของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับสมญานามว่า “สี่แยกอินโดจีน” ที่เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านรอบทิศ คือ เมียนมา จีนตอนใต้ สปป.ลาว ที่ต่อไปถึงเวียดนาม และกัมพูชาได้อีกด้วย
ส่วนที่หน้าร้าน CM See Me ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าแอร์พอร์ต เชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรมทดสอบตลาด และจัดแสดง สินค้าภายใต้โครงการ “พัฒนา หัตถอุตสาหกรรมหริภุญชัย สู่นวัตกรรมสร้างสรรค์” เพื่อให้ให้ผู้ประกอบการหัตถอุตสาหกรรมของจังหวัดลำพูน มีโอกาสศึกษาและทดลองวิธีการค้าผ่านช่องทาง E-commerce ของประเทศจีน มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับระเบียบ Cross Border E-commerce จีน เพื่อนำไปสู่การสร้างช่องทางและโอกาสทางการตลาดได้มากขึ้น
โดยในงานได้ระดมกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ชาวจีน ที่พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน จำนวนกว่า 15 ราย ที่มีฐานผู้ติด ตามมากกว่า 1 แสนคน เข้าร่วมการทดสอบและวิพากษ์ผลิตภัณฑ์ รวมถึงช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าของดีจังหวัดลำพูน เข้าสู่เครือข่ายชุมชนสังคมออนไลน์ประเทศจีน
นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้นำนวัตกรรมมาอบรมพัฒนา ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 การจะเดินทางไปจำหน่าย หรือจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ มีข้อจำกัด ช่องทางสำคัญคือตลาดออนไลน์ จึงส่งเสริมให้ขึ้นไปค้าบนแพลทฟอร์มของเถาเป่า (Taobao) มีกลุ่ม ลูกค้าเป้าหมายคือชาวจีน และมีการทำโปรดักส์ต่างๆ นำเสนอในแพลทฟอร์มนั้นๆ พร้อมจัดให้มีการทดสอบทดลองสินค้าต่างๆ ขึ้น คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิดขณะนี้ได้
ด้านดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นรูปแบบการตลาด ที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถาน การณ์การค้าของสินค้ากลุ่ม OTOP และ SMEs จังหวัดลำพูนสู่ตลาดประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาอาศัย ช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึกในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว และย่านถนนคนเดินสำคัญ แต่ตลอด ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ยังมีชาวจีนอีกเป็นจำนวนมากที่พำนักอาศัยอยู่ และส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเป็น KOL อินฟลูเอ็นเซอร์บนแพลต ฟอร์มคลิปวิดีโอสั้น VLOG และไลฟ์ สตรีมมิ่ง ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่สำหรับการทำการตลาดสินค้าและบริการ จึงได้ระดมกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีชื่อเสียง และชาวจีนที่พำนักอาศัยในลำพูนและเชียงใหม่ มาร่วมทดสอบ และวิพากษ์ผลิต ภัณฑ์กว่า 50 ราย ซึ่งทุกคนจะได้ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของแต่ละอินฟลูเอ็นเซอร์ต่อไป
ทั้งนี้มีสินค้า 30 ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการ “พัฒนาหัตถอุตสาหกรรมหริภุญชัย สู่นวัตกรรมสร้างสรรค์” ประจำปีงบประมาณ 2564 ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ทุกรายการได้ถูกนำขึ้นแสดงบนร้านค้าออนไลน์ “เถาเป่า” ของประเทศจีน และสามารถจำหน่ายและขนส่งผ่าน ระบบโลจิสติกส์ข้ามแดน แบบ “door to door” ไปถึงมือผู้รับปลายทางในประเทศจีนได้ และมีการส่งเสริมการขายผ่านช่องทางไลฟ์ สตรีมมิ่งบนเถาเป่า รวมถึงการจัดทำ E-catalog ฉบับภาษาจีน เพื่อให้ผู้ซื้อชาวจีน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลาก หลายช่องทาง
คาดว่ากิจกรรมนี้จะช่วยเพิ่มยอดขาย 40-50% จากเดิม เนื่องจากอยู่บนช็อป Taobao ที่มีกลุ่มแฟนคลับฐานลูกค้าประมาณ 80,000 คนอยู่แล้ว ที่เหลืออยู่ที่รูปแบบ การตั้งราคาขาย และความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ ที่ต้องทำต่อเนื่องต่อไป
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565