รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2565) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้าง นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ในโอกาสดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ กทท. คนที่ 19 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา สำหรับการสรรหา ผอ.กทท. คนใหม่ครั้งนี้ เพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนเรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผอ.กทท. คนปัจจุบันที่ครบวาระการทำงานเมื่อวันที่ 13 พ.ย.64 ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องเกษียณอายุราชการอายุครบ 60 ปี
สำหรับประวัตินายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรที่สำคัญ ๆ มากว่า 25 ปี ได้แก่ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) มหาวิทยาลัยโยนก ธนาคารทหารไทย (TMB) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับรองผู้บริหารสูงสุดของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก่อนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ กทท.
ทั้งนี้นายเกรียงไกรฯ มีหน้าที่รับผิดชอบงานที่เป็นประโยชน์ต่อการเป็นผู้นำองค์กรเพื่อให้ กทท. มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในปี 2573 ด้วยประสบการณ์การบริหารจัดการกำหนดนโยบายการวางแผนกลยุทธ์องค์กรเกี่ยวกับการบริหารหน่วยงาน อาทิ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ฝ่ายกฎหมาย สำนักกรรมการและผู้จัดการทั่วไป และสำนักพัฒนาองค์กร รวมถึงการควบคุมกำกับหน่วยงานสายงานสารสนเทศและดิจิทัล วางแนวทางการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับผลงานและรางวัลในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญ ๆ นายเกรียงไกรฯ ได้รับรางวัลบุคคลที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในปี พ.ศ. 2559 รางวัลคนดีศรีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประเภท Talent ในปี พ.ศ. 2556 และมีงานด้านวิชาการ เป็นผู้วิจารณ์บทความงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2557 (BOT Symposium 2014) เรื่องกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME
อย่างไรก็ตามในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร นายเกรียงไกรฯ มีความมุ่งมั่นที่จะนำประสบการณ์ และองค์ความรู้ ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) และเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) มาพัฒนา กทท. ให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติในโครงการ Smart Port และเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในด้านการบริการทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศและส่งผลดี ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพัฒนา กทท. เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานของพนักงาน และคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับชุมชนโดยรอบ กทท. ให้มีสาธารณสุขที่เหมาะสม