เมื่อวันที่ 31 มกราคม มีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในการดูแลดีเซล ล่าสุดที่ประชุมกบง.มีมติปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล(บี100) จากบี 7 ชนิดเดียว(เดิมมี บี7 บี10 และบี 20) เหลือเพียงบี 5 ชนิดเดียว มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 31 มีนาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยประชาชนโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายอธิราษฎร์ ดำดี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมติ กบง. มีผลทำให้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต้องเรียกประชุมเป็นการด่วน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สืบเนื่องจากสาเหตุรอบก่อนหน้านี้ เคยมีมติ กบง. แล้วไม่ผ่าน กนป.ชาวสวน ก็มีการยื่นหนังสือถามว่า มติอะไรใหญ่กว่า ระหว่างมติ กบง. กับ กนป. กับมติ ครม. มติไหนใหญ่กว่ากัน
ประกอบกับก็มี ส.ส. มีการพูดกันถึงประเด็นนี้ด้วย ดังนั้นในรอบนี้ กบง.มีมติปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล(บี100) จากบี 7 ชนิดเดียว(เดิมมี บี7 บี10 และบี 20) เหลือเพียงบี 5 ชนิดเดียว ในครั้งนี้ ก็เลยจะนำเข้าผ่าน กนป. เห็นชอบก่อน
“สถานการณ์น้ำมันปาล์มของประเทศไทยแตกต่างไปจากตลาดโลกก็คือ ช่วงที่มีผลปาล์มน้อย ราคาแพงกระชากขึ้นมาสูงกว่าราคาของต่างประเทศ เกิดจากเราไม่มีระบบบริหารที่ดีพอ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่พอจะทำใจได้เพราะสต๊อกก็ถือว่ามีน้อย และราคาปาล์มที่ได้ก็อยู่ในระดับที่ราคาสูง แต่ด้วยความที่นโยบายไม่มีเสถียรภาพจะเห็นในสัปดาห์เดียวราคาปาล์มทะลายลดลงมา 3 บาท/กก. จากราคา 12 บาท/กก. วันนี้ปรับลงมาไม่ถึง 9 บาท/กก.
ขณะอีกด้านหนึ่งก็แบกภาระต้นทุนปุ๋ยเคมี แน่นอนมีผลกระทบแน่นอน จะต้องมาดูความสมดุลของปริมาณที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน ปริมาณการใช้ และปริมาณสต๊อก ที่สำคัญช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์ตลาดที่ตลาดโลกแพงกว่า และถ้าความผันผวนเนื่องจากนโยบายไม่นิ่ง ไม่แน่นอน จะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศราคาตกต่ำ จะเห็นผู้ค้านำน้ำมันแห่ไปขายส่งออกในตลาดต่างประเทศแทนก็จะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนขึ้นมาอีก
อย่างไรก็ดี นายอธิราษฎร์ กล่าวว่า สำหรับในปีที่ผ่านมาผู้ค้าก็มีความสามารถที่ได้ขายออกไปเกือบ 7 แสนตัน แล้วให้นึกภาพดูถ้าไม่ขายออกไปสต๊อกท่วมประเทศ แล้วเกษตรกร ราคาผลปาล์มที่ขายได้เท่าไร ยังนึกภาพไม่ออก ดังนั้นในการบริหารจะต้องคำนึงทั้งระบบให้ชัดเจน แล้วมีแผนพยากรณ์ที่ชัดเจน ว่าผลปาล์มจะมาก หรือ น้อยเดือนไหน จะบริหารตลาดอย่างไร ให้มีความสมดุลกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ระบบปาล์มมีเสถียรภาพ นั่นคือความหวังของชาวสวนปาล์มที่ฝากไว้กับ กนป.
ด้าน นายมนัส พุทธรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กนป. และในฐานะประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนคัดค้านอยู่แล้ว แล้วจะถามในที่ประชุมว่า คิดอะไรกันอยู่ แล้วการกระทำอย่างนี้รู้หรือยังว่า ทำให้ราคาผลปาล์ม ลดราคาลงถึง 3 บาท/กก. ภายในสัปดาห์เดียว เล่นอะไรกัน แล้วจะทุบ บี 10 โดยจะประกาศให้ บี 7 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ที่ผ่านมาได้ถามไปก็ไม่ตอบ แล้วกระแสวงในก็บอกว่าจะถอดบี 10 ออกให้ได้ คือ ดูแลแต่ผู้ค้ามาตรา 7 อย่างเดียว
“ผมถามว่าคุณเป็นใคร คุณมาจากไหน อยู่ไม่กี่เดือน คุณต้องการอะไร ทำไมคุณทำลายเกษตรกรได้ขนาดนี้หรือ ต่อไปประเทศไทยจะต้องไม่ปลูกปาล์ม จะให้ไปซื้อปาล์มน้ำมันเพื่อนบ้านมารับประทานหรือ ที่ผ่านมาพวกเราเกษตรกรทั้งประเทศ ลงทุน ลงแรง กว่าจะได้ บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน พวกเราคงไม่ยอม และจะถามว่านอกจากผู้ค้า แล้วเห็นแก่เกษตรกรกี่แสนครอบครัว คิดเป็นจำนวนคนกว่าล้านคนบ้างหรือไม่"
นายมนัส กล่าวตอนท้ายว่า ต่อไปประเทศไทยจะเดินอย่างไร ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นคนของนายกรัฐมนตรี ทำไมถึงกล้าตัดสินใจอย่างนี้ วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้จะถามในที่ประชุม
สอดคล้อง นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และบอร์ด กนป. กล่าวว่า วันนี้เราเริ่มเตรียมการกันแล้ว เราเตรียมการไม่ได้สร้างปัญหา แต่คัดค้านแสดงออกในสิ่งที่มีความจำเป็น และไม่ต้องการอ้างราคา ผลปาล์มทะลาย 11-12 บาท/กก. และวันนี้ค่าแรงเพิ่ม และค่าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แล้ว แต่ ถ้า กนป.ให้ผ่าน ประชาชนจะพิพากษาในการเลือกตั้งครั้งหน้า
อนึ่ง วาระการประชุม กนป. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565
ราคาผลปาล์ม ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565