วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นางสาวศุภารมย์ เย็นรัมย์ (ข้าวเหนียว) ตัวแทนกลุ่มศิลปินลิเกจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผ่านทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รับมอบหนังสือ
เพื่อร้องการขอความเป็นธรรมให้แก่กลุ่มศิลปินลิเกพื้นบ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีรายได้เลี้ยงชีพ เนื่องจากทางราชการสั่งห้ามแสดง หรือถูกยกเลิกงาน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสถานการณ์ที่โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้า
นางสาวศุภารมย์ เย็นรัมย์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเดิมมีคณะลิเกกว่า 200 คณะ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้คณะลิเกได้ปิดตัวลงไป ขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 30 คณะ ที่เวลานี้่เดือดร้อนอย่างหนัก จากมาตรการคุมการแพร่เชื้อโรค แม้ที่ผ่านมานักแสดงลิเกคณะต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา จะไม่เคยออกมารวมตัวออกมาเรียกร้อง ให้มีการแก้ปัญหาเหมือนกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิงกลางคืน แต่ใช่ว่าพวกเราจะไม่เดือดร้อน
ทุกคนต่างพยายามดิ้นรนหางาน เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว โดยหันไปประกอบอาชีพอื่นในช่วงที่ห้ามแสดงลิเก ไม่ให้มีการรวมกลุ่มป้องกันแพร่ระบาด บางครั้งจัดแสดงผ่านไลฟ์สดทางโซเชียล เพื่อหามาลัยออนไลน์ แต่รายได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นตามลำดับ รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ การปรับระดับพื้นที่ มีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าโดยไม่ต้องกักตัว การอนุญาตให้นั่งดื่มในร้านอาหาร มีการเข้าชมกีฬา ตลอดจนการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆของภาครัฐ เช่น เคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2565 แต่ปรากฏว่าคณะลิเกในจังหวัดนครราชสีมา กลับไม่ได้รับการผ่อนปรนหรือปลดล็อกตามไปด้ว
นางสาวศุภารมย์ฯ กล่าวอีกว่า พวกเรารู้สึกน้อยใจ ที่กิจกรรมอื่น ๆ สามารถจัดการแสดงได้ แต่การแสดงลิเกกลับไม่ได้รับอนุญาตจากทางอำเภอ ในการจัดการแสดง จนทำให้ทางเจ้าภาพจัดงานต้องยกเลิกงาน เนื่องจากไม่สามารถขออนุญาตให้มีการแสดงลิเกได้ ผิดกับการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ทำไมทางอำเภออนุญาตให้มีการแสดงได้
ทั้งนี้ ตนเองมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม และซ้ำเติมความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะคณะลิเก ซึ่งไม่เฉพาะเพียงแค่ลิเกเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงนักดนตรี เวที คนงาน เจ้าของคณะ เจ้าภาพ รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องได้รับความเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน เสมือนว่ายังอยู่บรรยากาศของการล็อกดาวน์ปิดประเทศ
บางพื้นที่สั่งห้ามแสดงลิเก โดยอ้างเรื่องป้องกันโควิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่ประชาชนได้ฉีดวัคซีนจำนวนมาก ขณะนี้เริ่มกระตุ้นเข็มที่ 3-4 อีกทั้งทางรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีนโยบายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข
ล่าสุด ทางศบค. ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้า โดยอนุญาตให้พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ไม่เกิน 500 คน และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) เฉพาะอำเภอเมืองนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โชคชัย อ.ปากช่อง อ.พิมาย อ.วังน้ำเขียว และ อ.สีคิ้ว สามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม
ดังนั้น ทางกลุ่มนักแสดงลิเกจังหวัดนครราชสีมา ขอความอนุเคราะห์และเห็นใจกลุ่มศิลปินเหล่านี้ จึงอยากเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาล และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เร่งช่วยเหลือในเบื้องต้นดังนี้
1.ขอให้ทางจังหวัดนครราชสีมา ผ่อนปรนให้เปิดการแสดงลิเกทุกคณะโดยทั่วไปได้เร็วที่สุด นอกจากช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าแล้ว ยังสืบสานวัฒนธรรมไทย ต่อลมหายใจศิลปะพื้นบ้านที่กำลังจะใกล้ตายอีกด้วย เนื่องจากลิเกสามารถทำการแสดงได้จนถึงช่วงเดือนเมษายน และจะหยุดพักในช่วงหน้าฝน ไม่สามารถแสดงในสถานที่เปิดโล่งได้ หากไม่อนุญาตให้จัดการแสดงในช่วง 3 เดือนนี้ก็จะทำให้สูญเสียรายได้ยาวต่อเนื่องถึงปลายปี โดยมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ดังที่ได้กล่าวไว้
2.ขอให้มีนโยบายชัดเจน โดยยึดตามมาตรการ ศบค.ที่อนุญาตให้พื้นที่สีส้มสามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ไม่เกิน 500 คน และพื้นที่สีฟ้า รวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการเยียวยาประชาชนโดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐแต่อย่างใด
3.กำชับส่วนราชการต่างๆโดยเฉพาะทางอำเภอ ได้รับทราบถึงปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่มนักแสดงลิเก เพื่อไม่ให้เกิดการสั่งห้ามหรือยกเลิกกะทันหัน พร้อมกับเปิดช่องทางรับแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีนี้โดยเฉพาะ นางสาวศุภารมย์ กล่าว
ทั้งนี้ภายหลังจากยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คณะตัวแทนลิเกจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันร้องกลอนลิเก เพื่อวิงวอนและสื่อสารไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มคณะลิเกในพื้นที่ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีงานไม่มีรายได้เลี้ยงชีพและครอบครัวด้วย
นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวว่า ทางจังหวัดฯเข้าใจและรู้สึกเห็นใจบรรดาคณะลิเก นักแสดงและครอบครัวนักแสดงทุกคน โดยจะนำเข้าหรือกับคณะกรรมการโรคติดต่อฯเพื่อพิจารณา นอกจากนี้การแสดงลิเกต่าง ๆ ก็ให้มีมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในการดูแลป้องกันอย่างเข้มข้น อาทิ เว้นระยะห่าง ตรวจ ATK ฉีดวัคซีนครบแล้ว สวมหน้ากากอนามัย การคัดกรอง ทั้งผู้แสดง ผู้ชมต่างๆ อย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป