รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องสำคัญ โดยสภาวิศวกรมุ่งส่งเสริมให้วิศวกรในทุกสาขามีส่วนร่วมดำเนินการ ปัจจุบันเทรนด์โลกให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
อีกทั้งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า วัสดุ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคารได้รับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐาน มีความคงทน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ร่วมกันของโลก
การลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Reduction) เป็นเป้าหมายสำคัญที่สภาวิศวกรร่วมดำเนินการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นศตวรรษ
ตามเป้าหมายที่ผู้นำโลกเห็นพ้องในการประชุม Conference of the Parties (COP) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยร่วมกับภาคีหลัก ดำเนินการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา
โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง (กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากร-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนสามารถบรรลุเป้าหมายแรกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตัน CO2 จากสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการมุ่งสู่ Net Zero จึงพร้อมสนับสนุนเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ในปี พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ อาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 9,000 ตารางเมตรนี้ สภาวิศวกรให้ความสำคัญถึงสภาพแวดล้อมทางภายภาพ กรอบอาคาร ระบบวิศวกรรม และมุ่งการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES) รวมทั้งสภาวิศวกรส่งเสริมให้ใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ มาตรฐาน มอก. 2594 ซึ่งเป็น low carbon cement ในการก่อสร้าง สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 62,000 กิโลกรัม CO2 (เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 7,341 ต้น) นับเป็นบทบาทสำคัญของสภาวิศวกรที่ดำเนินการสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในการส่งเสริมและขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก