ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางเดือนม.ค. 2565 ที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ภาคเหนือ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือ กับ 14 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเหนือ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่ยุค 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ซึ่งภาคการผลิตทุกส่วนต้องปรับตัว โดยนำการวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งนักวิชาการเป็นส่วนสำคัญ มาเติมเต็มผู้ประกอบการที่อยู่หน้างานและรู้ถึงปัญหาจริง จึงทำโครงการเชิงรุกในลักษณะหุ้นส่วน เพื่อให้ทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน
ส่วนลำดับต่อไป ควรให้รัฐและประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากภาครัฐมีข้อมูลเชิงลึก เป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนภาคประชาสังคม ต้องดึงเข้าร่วมเพื่อเรียนรู้และเติมเต็มส่วนที่ยังขาด จะได้เติบโตขึ้นพร้อมธุรกิจ ช่วยแก้ไขเรื่องความเหลื่อมลํ้าในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการ ค้าไทย เพิ่มเติมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ระหว่างหอการค้า 17 จังหวัด อันได้แก่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร และพิษณุโลก
กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ฯภาคเหนือ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัย พะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.พิบูลสงคราม มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เชียงราย มรภ.ลำปาง มรภ.กำแพงเพชร มรภ.นครสวรรค์ มรภ.เพชรบูรณ์ มทร.ล้านนา
ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ (STeP)
ภาคเหนือ มีกลไกทำงานร่วมผู้ประกอบการต่อเนื่องกว่า 9 ปี ทั้ง 14 มหาวิทยาลัย สร้างงานวิจัยปีละไม่น้อยกว่า 9,000 เรื่อง ถ้าเราทำให้ 17 จังหวัดกับ 14 มหาวิทยาลัย มีงานดีๆ เกิดขึ้นมาปีละ 1-2 เรื่อง จะสร้างชิ้นงานที่เป็นความร่วมมือขึ้นมาได้ปีละเกือบ 17-18 เรื่อง ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
สำหรับกิจกรรมโครงการต่างๆ ต่อจากนี้ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. กล่าวว่า มีโครงการสร้างเครือข่ายทางการค้าและจับคู่เจรจาธุรกิจสู่ตลาดสากล ร่วมกับหอการค้าและอบจ.เชียงใหม่ในไตรมาสแรกนี้ มุ่งธุรกิจด้านอาหารและเกษตรแปรรูปสู่ตลาดต่างประเทศ (International Market)
นอกจากนี้ร่วมกับหอการค้าและจังหวัดลำปาง พัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City Lampang) ผลักดันให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางดิจิทัล (Digital Hub) เกิดอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมการบริการสุขภาพและเครื่องสำอาง เป็นต้น
คาดว่ามูลค่าเพิ่มของธุรกิจประมาณ 20-30% ภายในเวลา 1-3 ปี หลังจากที่ลงทุน ภาคธุรกิจเป้าหมาย อาทิ ดิจิตอล เบส เทคโนโลยี การเกษตร และไบโอเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพ
ด้านโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพ มาตรฐานการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรวิถีชุมชน จังหวัดลำปางและจังหวัดตากด้วยนวัตกรรม” ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ปี 2563 ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ร่วมหารือผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง ในการจัดตั้ง“ศูนย์การเรียนรู้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) จังหวัดลำปาง”
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไปและเกษตรกรของจังหวัดลำปาง ในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เกษตรวิถีชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขณะที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เดินหน้าโครงการ Big Brother สู่ปีที่ 6 โดยจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำ เป็นพี่เลี้ยง SMEs ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบริหารธุรกิจและองค์กร และการถ่ายทอดองค์ความรู้ จากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำ อบรมหลักสูตรพิเศษจากกลุ่มพี่เลี้ยง Big Brother และรับ คำปรึกษาด้านการเงินจากสถาบันการเงินชั้นนำ เปิดรับสมัครถึง 28 ก.พ. 2565
นภาพร ขัติยะ/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565