บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานหลายแห่งเพื่อรองรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางอากาศอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง หนึ่งในนั้นคือ “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2” ที่จะช่วยรองรับปริมาณการขยายตัวของผู้โดยสารที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงิน 6,211 ล้านบาท พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เบื้องต้นทอท.มีแผนจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) เพื่อรองรับผู้โดยสารที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคนต่อปี หากมีการเปิดให้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการได้ 11 ล้าน คนต่อปี ทั้งนี้นั้นทอท.จะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 เพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือที่ประชุมในการของบประมาณการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดว่าจะใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 4 เดือนนี้ และจะเริ่มจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ได้ภายในเดือนมีนาคม 2566 ใช้ระยะเวลา 1 ปี
“สำหรับสาเหตุที่ทอท.มีแผนดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เนื่องจากในปี 2563 พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการเกิดขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานภูเก็ต ราว 20% หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น เราเชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการจะกลับมาเต็มขีดความสามารถในการรองรับ ทำให้ทอท.มีความจำเป็นต้องก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2”
นายกีรติ กล่าวต่อว่า หลังจากจ้างที่ปรึกษารายละเอียดและความเหมาะสมของโครงการฯ แล้วเสร็จ เบื้องต้นทอท.จะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.พิจารณาภายในปี 2566 และเสนอต่อสภาพัฒนาการเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาอนุมัติและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนธันวาคม 2566 เริ่มเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ภายในต้นปี 2567 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2570
ส่วนความคืบหน้ารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาดำเนินการโดยจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี คาดว่ารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จภายในกลางปี 2566
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การศึกษาและแผนการลงทุนของโครงการท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 มีความล่าช้า ทั้งนี้พบว่าภายหลังปี 2563 มีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการเกินขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยาน ส่วนประมาณการณ์รายได้เมื่อเปิดให้บริการของท่าอากาศยานฯนั้น จะต้องรอความชัดเจนจากการทบทวนศึกษาโครงการฯก่อนว่าเป็นอย่างไร”
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) 2. งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด และลานจอดอุปกรณ์ภาคพื้นที่ (Ground Support Equipment) 3. งานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค