ศาลปกครอง วินิจฉัย ปมรฟม.ยกเลิกTOR-ล้มประมูลสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

09 ก.พ. 2565 | 05:21 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 12:56 น.

"บีทีเอส" เผยศาลปกครองกลางสั่งยกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 5 แสน เหตุบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายประมูล ยันรฟม.-บอร์ดมาตรา 36 ยกเลิกทีโออาร์-ล้มประมูล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยภายหลังศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)

 

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ศาลฯ ได้พิจารณาในกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการตัดเลือกตามมาตรา 36 ในการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

เบื้องต้นศาลได้พิจารณาให้จำหน่ายคดีบางส่วนตามที่รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ยกเลิกการประมูลโครงการฯ ที่ผ่านมาการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเกิดการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

"ส่วนผลกระทบด้านความเสียหายของบริษัทฯนั้น ศาลได้พิจารณาเห็นว่าบริษัทฯจะต้องใช้งบประมาณในการประมูลอยู่แล้ว ทำให้การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งยกฟ้องในส่วนค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนี้บริษัทฯ จะกลับไปหารือว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการภายใน 30 วัน"

 

 

 ที่ผ่านมาทางบีทีเอสได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเรียกค่าเสียหายกับรฟม.และคณะกรรมการตัดเลือกตามมาตรา36 จำนวน 500,000 บาท เนื่องจากเป็นค่าเสียหายที่บริษัทจัดจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคและที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม

ศาลปกครอง วินิจฉัย ปมรฟม.ยกเลิกTOR-ล้มประมูลสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ในปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีบุรี (สุวินทวงศ์) ยังอยู่ในกระบวนการของศาลทั้งหมด 3 คดี ประกอบด้วย ศาลปกครอง จำนวน 2 คดี 1.การพิจารณาคดีกรณีที่ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.คดีรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการคัดเลือกประกวดราคาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี 3.คดีการแก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกการประมูลของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36