ลุ้นปิดดีล ประมูล “สายสีส้ม-ม่วงใต้” ส่งท้ายปี 64

24 ธ.ค. 2564 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 15:22 น.

รฟม.-บอร์ดม.36 รอสรุปรายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ลุยปรับเกณฑ์ทีโออาร์ ประมูลสายสีส้ม ลุ้นใช้เกณฑ์ด้านราคาตามเดิมตามรอยประมูลสายสีม่วงใต้ หลังเจอกระแสค้านเกณฑ์ราคาควบเทคนิค

หากพูดถึงเมกะโปรเจคต์ขนาดใหญ่ที่ยังกลายเป็นประเด็นต่อเนื่องถึง 2 ปีเต็ม คงหนีไม่พ้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ที่ยังคงคาราคาซังจากการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลทีโออาร์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จนถึงขั้นล้มประมูลเป็นเหตุให้เอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไม่จบสิ้น

 

 

 

ที่ผ่านมายังพบว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้เลื่อนการประมูลโครงการฯดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมมีข้อกังวลในกรณีที่เอกชนฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ยังไม่สิ้นสุด โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯได้พิจารณาเอกสารในกรณีที่รฟม.มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เบื้องต้นศาลอาญาคดีทุจริตฯได้นัดไต่สวนพิจารณาคดีทั้งหมด 3 วัน ประกอบด้วย วันที่ 14,20,24 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นการไต่สวนพยานและพิจารณาเอกสารที่ยื่นฟ้องต่อศาลฯเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาว่ามีมูลฟ้องหรือไม่

 

 

 

 ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังอยู่ระหว่างการรอสรุปรายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม รวมทั้งที่ประชุมได้มีการหารือถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและรูปแบบการใช้เกณฑ์การประมูลอย่างไร

 

 

 

 ล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ส่วนความคืบหน้าเมื่อเดือนตุลาคม 2564ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ (บอร์ด PPP) ได้มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ปัจจุบันรฟม.อยู่ระหว่างรอการตั้งผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเสนอรายชื่อต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จะพิจารณาร่างทีโออาร์อีกครั้ง

ทั้งนี้ในกรณีที่รายชื่อผู้สังเกตการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับผู้สังเกตการณ์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท นั้น คาดว่าผู้สังเกตการณ์มีความเห็นที่ร่างทีโออาร์โคงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะใช้หลักเกณฑ์การประมูลด้านราคาเช่นเดียวกับทีอาร์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

 

 

 

ส่วนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่มีการกลับมาใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาแทน จากเดิมที่ใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาควบคู่ด้านเทคนิค (Price performance) โดยผู้สังเกตการณ์ที่เข้าร่วมประชุมนั้นมีความกังวลในการใช้เกณฑ์ใหม่ที่ควบคู่ด้านเทคนิค ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีมติกลับมาใช้เกณฑ์ด้านราคา แต่ยังคงเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคที่เพิ่มขึ้นเป็น 85% เนื่องจากตามแผนโครงการฯต้องการมุ่งเน้นด้านการก่อสร้างในเชิงเทคนิคเป็นสำคัญ

 

 

 

 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดไต่สวนพยานและพิจารณาเอกสารที่ยื่นฟ้องต่อศาลฯเพื่อประกอบการพิจารณาในช่วงที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการของไต่สวนของศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยวันที่ 24 ธันวาคมนี้จะเป็นการนัดไต่สวนพยานปากเอกเพิ่มเติม

 

 

 

 

 "กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแนวโน้มจะกลับมาใช้เกณฑ์การประมูลในรูปแบบเดิมนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนจะเข้าร่วมการประมูลหรือไม่คงต้องดูรายละเอียดทีโออาร์ก่อนว่าเป็นอย่างไร"

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ เข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570

 ทั้งนี้ส่วนของ 6 สัญญาของโครงการ ดังนี้ สัญญาที่ 1 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงเตาปูน - หอสมุดแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 4.8 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 16 - 35 เมตร ,สัญญาที่ 2 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า ระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 23 - 46 เมตร ,สัญญาที่ 3 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า - สะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทางประมาณ 3.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 22 - 41 เมตร ,สัญญาที่ 4 งานโยธา โครงการใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า - ดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 17 - 28 เมตร ,สัญญาที่ 5 งานโยธา โครงการยกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน ระยะทางประมาณ 9.0 กิโลเมตร สถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี,สัญญาที่ 6 งานระบบราง ช่วงเตาปูน - ครุใน เป็นระบบรางของทางวิ่งรถไฟฟ้าและระบบรางภายในโรงจอดรถไฟฟ้า งานติดตั้งรางทางวิ่ง รางจ่ายกระแสไฟฟ้า และงานอื่นๆ

 

 

ลุ้นปิดดีล ประมูล “สายสีส้ม-ม่วงใต้” ส่งท้ายปี 64

จากกรณีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีการกลับมาใช้เกณฑ์การประมูลด้านราคาตามเดิมนั้นถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยยะสำคัญ หากผู้ชนะการประมูลโครงการฯดังกล่าวเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ถือว่าเข้าทางผู้รับสัมปทานรายเดิม เนื่องจากมีประสบการณ์ในด้านการก่อสร้างขุดเจาะอุโมงค์หลายโครงการฯ ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกดูมีวี่แววจะกลับมาใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาตามเดิม หลังจากที่รฟม.ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการใช้ผู้สังเกตการณ์ชุดเดียวกันร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หากเป็นเช่นนั้นการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายนี้คงจะเกิดได้ในไม่ช้านี้  ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการฟ้องร้องของเอกชนอีกฝ่ายคงเบาบางลงได้บ้างถือเป็นการปิดดีลเจราจรที่ลงตัวทั้ง 2 โครงการ และยังทำให้โครงการฯสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ทันตามแผนเพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง