ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จํากัด และบริษัท อีโนวา อินทิเกรชั่น จำกัด โดยมี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประสิทธิ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจริญชัยหม้อแปลง ไฟฟ้า จํากัด (บจก.) นายนพชัย ถิรทิตสกุล ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.อีโนวา อินทิเกรชั่นเป็นผู้ลงนาม มีนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน(กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร และดร.วัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นสักขีพยาน
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และพิธีรับมอบหม้อแปลงซับเมอร์ส เจริญชัย ซึ่งเป็นหม้อแปลงฟ้าระบบจำหน่ายชนิดจมน้ำให้กับจุฬาฯ เพื่อสร้างทัศนียภาพอันสวยงามให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงการการจัดการความมั่นคงด้านพลังงาน ตามนโยบายการเพิ่มศักยภาพสมาร์ทซิตี้ของกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับเป็นมหานครแห่งอาเซียน ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงการนำระบบไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าลงดิน เพื่อการสร้างทัศนียภาพอันสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยว สร้างระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง สร้างความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของประชาชน และนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางจุฬาฯได้ร่วมกับ บจก.เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า และบจก.อีโนวา อินทิเกรชั่น ครั้งนี้เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ให้เป็นต้นแบบของ สมาร์ท ซิตี้ สำหรับนำหม้อแปลงไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลให้เป็นเมืองทันสมัยไร้สาย ด้วยการนำสายไฟฟ้าและหม้อแปลงลงดินทั้งระบบ คาดจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 ซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทั้งนี้สยามสแควร์จะเป็นโครงการนำร่องไร้สายไฟฟ้าครอบคลุมทั้งหมดกว่า 63 ไร่ หากสามารถยกระดับเมืองอัจฉริยะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากนี้ทางจุฬา จะทำการขยายผลต่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่มีมากกว่า 1,000 ไร่ แต่ยังไม่กำหนดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จุฬาฯ จะได้รับ เพื่อการพัฒนานำสายไฟลงดินทั้งหมด
สำหรับโครงการนำร่องนี้ บริษัทเอกชนทั้งเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า และอีโนวา อินทิเกรชั่น ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง โดยบริษัทเจริญชัยหม้อแปลงฯ ช่วยบริจาคหม้อแปลงซับเมอร์ส ส่วนอีโนวาฯ ช่วยด้านดำเนินการก่อสร้างนำสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งโครงการนี้คาดจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้
ด้านนายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บจก.เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า กล่าวว่า การส่งมอบหม้อแปลงซับเมอร์สครั้งนี้ บริษัทจะเข้าไปเสริมสร้างระบบสายไฟฟ้าใต้ดินให้แบบสมบูรณ์ที่สุด หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจะไม่เห็นสายไฟฟ้า หรือสายสื่อสารบนดิน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างทัศนียภาพและความมั่นคงความปลอดภัยในพื้นที่นี้เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความทันสมัยให้กับสยามสแควร์ โดยนำเทคโนโลยี IoT ในการควบคุมแรงดันให้เกิดเสถียรภาพ ทำให้การปล่อยกระแสไฟฟ้าเกิดความมั่นคง เมื่อไฟฟ้ามั่นคงการผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะ(สมาร์ทซิติ)ก็จะมีความยั่งยืนต่อไป ขณะเดียวกันในอนาคตสยามสแควร์จะเป็นแลนด์มาร์คและเป็นจุดเช็กอินที่มีความทันสมัย
นายประจักษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อนำหม้อแปลงลงใต้ดินแล้วจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินย่านสยามสแควร์มากขึ้นไปอีก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ยังไม่นำสายไฟลงใต้ดินแล้ว มูลค่าจะสูงกว่า ทั้งสามารถปลูกต้นไม้ริมถนน หรือรอบข้างให้เกิดความร่มรื่นได้เพิ่ม
ด้านนายนพชัย ถิรทิตสกุล ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.อีโนวา อินทิเกรชั่น กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนำร่องนำสายไฟฟ้าลงดินย่านสยามแควร์เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงามเพื่อเป็นโมเดลออกมาสวยงามที่ดีที่สุดซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสู่อนาคตไปข้างหน้า ในการผลักดันเป็นจุดเช็คอินของในแต่ละจังหวัดที่สามารถนำต้นแบบไปประยุกต์ใช้ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่กลายเป็นหน้าตาของแต่ละจังหวัด ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้กลับมาคึกคัก
ส่วนนายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการสายไฟฟ้าลงดินทั่วประเทศรัฐบาลยังไม่มีนโยบายผลักดันอย่างเต็มตัว ส่วนใหญ่เป็นนโยบายนำร่อง เน้นเมืองท่องเที่ยวโดยและจะผลักภาระให้กับท้องถิ่น เช่น เทศบาลเมืองต่าง ๆ หากต้องการนำสายไฟฟ้าลงดินต้องใช้งบฯส่วนท้องถิ่น รัฐบาลไม่จัดสรรให้ ในส่วนงบประมาณนั้น จะทำการจัดสรรผ่านไปยังการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เพื่อดำเนินการในการนำสายไฟลงดิน
กรณี กฟภ.นั้น รัฐบาลจะนำสายไฟฟ้าลงดินร่อง 1 ถนน 1 จังหวัด ซึ่งส่วนนี้จะใช้งบฯ กฟภ. ที่ผ่านมาปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดินได้ทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงต้องเลือกจุดที่เหมาะสม เช่น จุดที่ต้องการความปลอดภัยสูง จุดที่ชุมชนหนาแน่น จุดที่ต้องการผลักดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเที่ยว จุดที่ต้องการภูมิทัศน์ที่สวยงามเพื่อเป็นแลนด์มาร์ค เป็นหน้าเป็นตาของในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
"การที่จะนำสายไฟฟ้าลงทั้งหมดทั่วประเทศนั้นคงยากเพราะงบฯไม่เพียงพอ และไม่คุ้มค่าการนำงบฯมาใช้ ยกเว้นบางจุดที่เราต้องการโชว์เป็นหน้าเป็นตาของประเทศให้กับนักท่องเที่ยว และอยากปรับปรุงภูมิทัศน์ที่สวยงาม ดังนั้นจึงสมควรที่จะทำเป็นจุด ๆ ไปมากกว่าที่จะเทงบฯมหาศาลเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งระบบทั่วประเทศ” นายกิตติกร กล่าว