ทุบทิ้ง 200โรงหนังสแตนด์อโลนกลางกรุง สู่บิ๊กโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส

01 ต.ค. 2564 | 02:08 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 09:22 น.

โรงหนังสแตนด์อโลน เกือบ200 แห่งทั่วกรุง สูญพันธุ์ ทุบทิ้ง พลิกโฉมขึ้นตึกสูงมิกซ์ยูส 3แห่ง ยังเปิดฉาย  บิ๊กทุนจ้องตาเป็นมัน พหลเธียร์เตอร์  บอกขาย2,000 ล้าน –งามวงศ์วานรามา รอรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หลัง สกาลา  สยามสแควร์ที่ดินจุฬาโรงสุดท้ายปิดตำนานเป็นย่านช็อปปิ้งโลก   

 

สกาลาราชาโรงภาพยนต์ของสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย (PMCU ย่านสยามสแควร์ ถูก  พลิกโฉมสู่ ช็อปปิ้งสตรีท ระดับโลก โดยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)หรือCPN ปิดฉาก โรงหนังสแตนด์อโลน แห่งสุดท้าย กลางใจเมืองบนแยกปทุมวัน 

สะท้อนว่าความรุ่งเรืองของโรงหนังดังกล่าว จะเหลือเพียงซากความทรงจำ อาคารและที่ดินทำเลทอง รอ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่  เปลี่ยนโฉมเป็น โปรเจ็กต์ยักษ์มิกซ์ยูส ทันสมัยตามความนิยมในปัจจุบันเนื่องจาก เมืองเปลี่ยนแปลงมีรถไฟฟ้าผ่าน ที่ดินมีราคาสูง  ผังเมือง เพิ่มความคุ้มค่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันโรงหนังในลักษณะดังกล่าวจะถูกทุบทิ้งกลายเป็นย่านพาณิชยกรรมสำคัญ

ย้อนไปในอดีต ก่อนห้างสรรพสินค้า จะมีอิทธิพล ดึงโรงหนังเข้าไปอยู่ในตัวอาคาร  เฉพาะเขตกรุงเทพมหานคร มีโรงหนัง สแตนด์อโลน เกือบ200 แห่ง ล้วนตั้งอยู่กลางย่านชุมชน ปัจจุบันเหลือเพียงตำนาน  จากการสำรวจของ”ฐานเศรษฐ”พบว่า ในจำนวนนี้ยังเปิดกิจการ 3 แห่ง  ทำเลสะพานควาย ,กลางใจเยาวราช และชินเขต งามวงศ์วาน บางแห่ง ปิดการให้บริการลงแล้ว แต่ไม่ต้องการขายที่ดิน  แม้นายทุนจะทาบอย่างต่อเนื่องก็ตาม

สอบถาม ผู้ดูแล โรงหนังพหลเธียเตอร์  ติดสถานีBTSสะพานควาย ตรงข้าม มงคลรามาเดิม ที่บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน)ซื้อไปก่อนหน้า โดยระบุว่า เจ้าของบอกขายในราคากว่า2,000 ล้านบาท ที่ดินพร้อมอาคาร 5ไร่  ที่ผ่านมามีบริษัทพัฒนาที่ดินทุกแบรนด์ชั้นนำติดต่อขอซื้อ แต่ติดตึกแถวซึ่งเป็นที่ดินคนละเจ้าของ ล้อมอยู่

ทำให้ต้องเจรจาซื้อตึกแถวอาคารพาณิชย์บริเวณด้านหน้า เจาะทะลุเพื่อทำทางเช้าออก แต่มองว่าเป็นเรื่องยากเพราะเจ้าของอาคารไม่ต้องการขาย เช่นเดียวกับ โรงหนังงามวงศ์วานรามา บริเวณหน้าปากซอยชินเขต ที่หากมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลพาดผ่าน อาจขายขึ้นตึกสูงหรือไม่เจ้าของที่ดินอาจพัฒนาเอง

   แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)  ระบุว่า การพัฒนาที่ดิน เปลี่ยนไปตามความนิยม ดังนั้น โรงหนังสแตนด์อโลน จึงเป็นเป้าที่นักลงทุนให้ความสนใจเพราะ 1. ตั้งอยู่ กลางชุมชนขนาดใหญ่ 2.ทำเลติดรถไฟฟ้า-ถนนสายหลัก 3อาคารเตี้ย1-2ชั้น ง่ายต่อการรื้อถอนใช้ต้นทุนน้อย 4.มีเนื้อที่พอเหมาะพัฒนาโครงการ 5.ผังเมืองปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ขึ้นตึกสูงเพิ่มความหนาแน่น

ที่สำคัญ คนไม่สนใจใช้บริการ เพราะดูหนังผ่านสมาร์ทโฟน ไม่มีที่จอดรถ อีกทั้งยังเป็นแหล่งมั่วสุม  ที่เจ้าพนักงานของรัฐ หน้าที่ตำรวจสอดส่องตรวจตราทำให้ อยู่ยาก และถูกบีบจากนายทุนไล่ซื้อ

ขณะการพัฒนาเมือง กทม.ต้องการเน้น ใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความคุ้มค่า  โดย เฉพาะรอบสถานีรถไฟฟ้า ต้องเกิดความหนาแน่นสูง เพื่อให้สอดคล้องราคาที่ดิน ที่ปัจจุบันย่านใจกลางเมืองราคา ไปที่กว่า3ล้านบาทต่อตารางวา  และไม่มีทำเลไหนที่รถไฟฟ้าผ่าน จะต่ำกว่า 1ล้านบาทต่อตารางวาดังนั้นจึงเห็นตึกสูงสไตล์การพัฒนาแบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส เต็มเมือง

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่ายกตัวอย่าง ทำเลแยกปทุมวัน สยามสแควร์ สร้างสร้างตึกสูงอย่างไร้ข้อจำกัดเพราะเป็นเขตเศณษฐกิจศูนย์กลางเมือง ผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม สร้างได้ 10เท่าของแปลงที่ดิน ไม่มีข้อบัญญัติควบคุมอาคารของกทม.ควบคุมจำกัดความสูง  เช่นเดียวกับสะพานควาย ผังเมืองฉบับปัจจุบันกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง บางบริเวณ สร้างตึกขนาดใหญ่พิเศษได้ เช่นเดียวกับย่านชินเขตงามวงศ์วาน หากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลก่อสร้าง ตัวสถานีจะอยู่บริเวณโรงหนังงานวงศ์วานรามา  ที่นี่จะเป็นอีกทำเลที่น่าจับตา เพราะที่ดินแปลงค่อนข้างใหญ่ ไม่ต่ำกว่า10ไร่  

อีกทำเลที่โรงหนังสแตนด์อโลนหายไป คือย่านพระโขนง 6โรงหนังดังในในอดีต ที่เคยรุ่งเรือง โดยเฉพาะพระโขนงเธียเตอร์  สามแยกพระโขนงและโรงหนังเอเซียรามาอยู่ด้านในซอยสุขุมวิท 71  ปัจจุบัน กลายเป็น เมืองขนาดย่อมของชาวญี่ปุ่น ที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม คอมมูนิตี้มอลล์ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น   ที่ขยายตัวออกมาจาก มินิโตเกียว ย่านทองหล่อ  

    ทุบทิ้ง 200โรงหนังสแตนด์อโลนกลางกรุง สู่บิ๊กโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส