นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรจังหวัดเลย เพื่อหารือเรื่องโอกาสและช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสินค้าเกษตรของไทย โดยกลุ่มแรก เป็นกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านแก่งไฮ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ ปลูกต้นคริสต์มาส ไม้ใบ ไม้มงคล ไม้ฟอกอากาศ ไม้จิ๋ว ส่งขายทั่วประเทศ ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มต้องปรับตัวเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์และเฟซบุ๊ก ประสบความสำเร็จด้วยดี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้บริโภคไม้ดอกไม้ประดับมักจะให้ความนิยมพันธุ์ใหม่ ๆ ไม้ดอกที่มีสีสันที่โดดเด่นสวยงาม หลากหลาย ไม้ใบที่ทรงสวย ลำต้นที่แข็งแรง และต้านทานโรคได้ดี เป็นต้น เกษตรกรจึงเห็นความสำคัญและต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการขยายพันธุ์ต้นกล้าที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเข้าไปให้คำแนะนำแล้ว
นอกจากนี้ แม้ในปัจจุบัน เกษตรกรจะเน้นขายในประเทศ แต่ก็มีความสนใจที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้ เพราะ 17 ประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับไม้ดอกไม้ประดับส่งออกจากไทยแล้ว ยังเหลืออินเดียที่ยังคงเก็บภาษีศุลกากรกับไม้ดอกที่ร้อยละ 60 และไม้ประดับที่ร้อยละ 30
โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ อันดับที่ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 16 ของโลก มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 124.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสหรัฐอเมริกา อาเซียน (ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว) ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และจีน เป็นตลาดส่งออกหลัก
นอกจากนี้กรมฯ ยังได้พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดเลย ได้ร่วมหารือกับผู้แทนกรมเจรจาฯ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัดเลย และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเลย ซึ่งเห็นพ้องกันว่า การพัฒนากาแฟไทยให้ได้คุณภาพ สามารถสร้างจุดแข็งจากอัตลักษณ์ ความพิเศษของกาแฟไทยจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กาแฟไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ประกอบการยังสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายกาแฟไทยสู่ตลาดโลกได้อีกด้วย
“ทางหอหารค้าไทย ได้แนะนำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารู้จักกับน่านโมเดล ที่สภาหอการค้าไทยไปจับมือกับผู้ปลูกกาแฟจังหวัดน่าน นำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย วิทยาเขตกำแพงแสน มาช่วยพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการตลาด สร้างตรารับรองต่าง ๆ เช่น ตรา GAP ตราฮาลาล ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การทดสอบดิน การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ตัดแต่งใบ กำจัดโรคและแมลง เป็นต้น ทำให้ได้ผลผลิตกาแฟสูงถึง 3 ตันต่อไร่ (จากปกติประมาณ 1 ตันต่อไร่) รวมมูลค่า ประมาณ 6 หมื่นบาท ซึ่งช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้ในระยะยาวอีกด้วย”
โดยในปี 2564 ไทยส่งออกกาแฟดิบ กาแฟคั่ว และกาแฟสำเร็จรูปไปตลาดโลกรวมมูลค่า 103.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เป็นตลาดสำคัญ ปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ของไทย คือ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ชิลี ไม่เก็บภาษีศุลกากรกับเมล็ดกาแฟที่ส่งออกจากไทยทุกรายการแล้ว ขณะที่ 4 ประเทศ ยังเก็บภาษีศุลกากรอยู่ คือ ญี่ปุ่น (กาแฟคั่ว ร้อยละ 10-12) จีน (กาแฟไม่ได้คั่ว ทั้งที่แยกและไม่ได้แยกกาเฟอีน และกาแฟคั่วที่ไม่ได้แยกกาเฟอีน ร้อยละ 5) เปรู (กาแฟคั่วและไม่คั่ว ร้อยละ 6-11) และอินเดีย (กาแฟคั่ว ร้อยละ 100) โดยญี่ปุ่นได้ตกลงลดภาษีศุลกากรกับสินค้ากาแฟคั่วส่งออกจากไทย ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยจะทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในปี 2580