เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ครู วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ เช็คแนวทางที่นี่

13 ก.พ. 2565 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2565 | 15:28 น.

กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมเปิดตัวลงทะเบียนแก้หนี้ครู เริ่มวันที่ 14 ก.พ.นี้ ช่วยครูไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาหนี้สิน 6 แนวทาง มีอะไรบ้างเช็คเลย

นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการเตรียมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยในวันที่ 14 ก.พ.นี้ จะเปิดตัวโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ ให้ครูไทย”   

 

โดยให้ครูทั่วประเทศลงทะเบียนแสดงความจำนงให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นตัวกลางในการที่จะช่วยครูไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาหนี้สินในมิติต่าง ๆ รวม 6 แนวทาง คือ

1.การขอปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง ให้สอดคล้องกับสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนที่ความเสี่ยงต่ำ

 

2.ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อไป refinance สินเชื่อดอกเบี้ยสูง เพื่อลดภาระ

 

3.การขอปรับลดค่าธรรมเนียมประกันที่ไม่มีความจำเป็นให้ลดลง

 

4.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้เงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% หรือ 9,000 บาท เพื่อใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

 

5.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อเตรียมเกษียณอายุ หรือกรณีที่เกษียณแล้วมีภาระที่จะต้องจ่ายหนี้นานหลายปี

 

6.การไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว ทั้งกรณีผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน

 

สำหรับการเปิดให้ครูทั่วประเทศเข้ามาลงทะเบียนในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเปิดให้สามารถลงทะเบียนได้จนถึง 14 มี.ค. 2565

ทั้งนี้ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ นับตั้งแต่มีแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เมื่อ 16 สิงหาคม 2564 เพื่อแก้ปัญหาที่ครูทั่วประเทศกำลังเผชิญอยู่และความจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข

 

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลที่ www.moe.go.th ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานหลายเรื่องคืบหน้าไปได้ด้วยดี เริ่มเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สำคัญ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกว่า 70 แห่ง ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนครู การนำรายได้ในอนาคตของครูมาใช้ประกันการกู้ยืม 

 

เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ครูต้องซื้อประกันทั้งระบบรวมปีละนับหมื่นล้านบาท การยกระดับระบบสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนที่จะช่วยแก้ปัญหาครูมีเงินเดือนหลังจากจ่ายหนี้ไม่ถึง 30% ไม่พอใช้ดำรงชีพ ปัญหาการกู้เกินศักยภาพ และปัญหาที่เงินที่ชำระหนี้ถูกนำไปตัดเงินต้นน้อย ส่วนใหญ่นำไปจ่ายดอกเบี้ย อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างที่จะเข้ามาเป็นคนกลางช่วยครูไกล่เกลี่ยและแก้ปัญหาหนี้สินด้วย