ศธ.รุกหนักพาน้องกลับมาเรียนแล้วกว่า 4 หมื่นคน

12 ก.พ. 2565 | 05:47 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 13:01 น.

ศธ.รุกหนัก พาน้องกลับมาเรียนแล้วกว่า 4 หมื่นคน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษารับช่วงต่อ เปิดรับเรียนฟรี อยู่ฟรี ให้เด็กจบมัธยมต้น 8,445 คน ร่งติดตามอีก 109,452 คนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

 

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

 

ขณะที่ได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือจาก 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา

 

 

 

ล่าสุด นางสาวตรีนุช เผยถึงความคืบหน้าโครงการพาน้องกลับมาเรียนว่า ในระยะเวลา 1 เดือน นับจากริเริ่มโครงการ ครูและบุคลาการทางการศึกษาทุกหน่วยงานได้ร่วมกันค้นหา และติดตามน้อง ๆ ให้กลับมาเรียนได้จำนวน 42,316 คน จากจำนวนนักเรียนที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา 110,755 คน

 

น้องนักเรียน และเยาวชนนี้จะนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของแต่ละต้นสังกัดเดิม ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะทางการศึกษาก่อนหน้า ขณะเดียวกันได้มีการสำรวจเพิ่มเติมพบผู้พิการที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่หลุดจากการศึกษาอีก 41,013 คน จึงเป็นภารกิจที่ทุกสังกัดของ ศธ. ต้องร่วมกันติดตามเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 109,452 คน

 

“ดิฉันดีใจที่สามารถตามหาน้อง ๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ แม้จะเป็นจำนวนเบื้องต้น แต่กระทรวงก็ยังมุ่งมั่น และเดินหน้าเชิงรุกอย่างเต็มที่ที่จะตามหาน้อง ๆ ให้เจอ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เราให้ความสำคัญกับน้องทุกกลุ่ม และต้องการให้ทุกคนได้รับประโยชน์ทางด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักของคุณครูทั่วประเทศในการค้นหา และติดตามน้อง ๆ กลับมา โดยเรามีเป้าหมายที่จะต้องให้เป็นศูนย์ให้ได้” นางสาวตรีนุช  กล่าว

 

ศธ.รุกหนักพาน้องกลับมาเรียนแล้วกว่า 4 หมื่นคน

 

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมจะสามารถสรุปตัวเลขการติดตามนักเรียนจากทุกสังกัดของ ศธ.ที่มีข้อมูลได้ครบ และจะทราบได้ว่าเหลืออีกจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องขอความร่วมมือกับพันธมิตร 11 หน่วยงานในการติดตามต่อไป

 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สำหรับน้อง ๆ เด็กและเยาวชนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือที่กำลังจะจบในภาคการศึกษานี้ ซึ่งรวมถึงผู้พิการด้วย แต่ครอบครัวไม่มีความพร้อมในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อศึกษาต่อ หรือการย้ายถิ่นฐาน หรือสูญเสียผู้นำครอบครัว หากมีความประสงค์จะเข้ารับการศึกษาต่อสายอาชีพ ทาง ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็มีโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นทางเลือกในการเสริมสร้างสมรรถนะ และความรู้ เพื่อสามารถมีอาชีพ สร้างรายได้

 

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทาง สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเร่งการติดตามเด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีจำนวน 35,307 คน ทาง กพฐ.ติดตามกลับมาได้เบื้องต้นแล้วประมาณ 10,821 คน และจะนำเข้าสู่ระบบการศึกษาในสถาบันเดิมเป็นเบื้องต้น

 

หรือหากเป็นน้องที่จบการศึกษามัธยมตอนต้นแล้ว หากประสงค์จะเรียนต่อในสายอาชีพ และมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ทาง สพฐ.จะรวบรวมและส่งรายชื่อให้กับทาง สอศ. เพื่อส่งต่อน้อง ๆ เข้าร่วมโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ

 

“ยังมีเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบอีกมาก ที่ สพฐ.กำลังเร่งรัดติดตาม และให้ความช่วยเหลือ คาดว่าในเดือนมีนาคม สพฐ.จะทราบจำนวนที่ติดตามได้ชัดเจนมากขึ้น ส่วนที่ไม่สามารถตามหาได้พบ เราจะส่งต่อให้พันธมิตรของเราร่วมกันติดตาม”

 

นายอัมพร กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนที่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ และกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ทาง สพฐ.ยังมีแผนงานในการติดตาม และเยี่ยมเยียนเด็กและเยาวชนถึงบ้าน โดยใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ

 

 

ขณะที่นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ทาง สอศ. ได้กำหนดคุณสมบัติของนักเรียนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อเข้าศึกษาต่อสายอาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยจะต้องเป็นนักเรียนที่คาดว่าจะสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า หรือผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา แต่มีฐานะยากจน หรือประสบปัญหาทางครอบครัว หรือมีภูมิลำเนาห่างไกลสถานศึกษา แต่มีความประพฤติที่ดี โดยสามารถเลือกเข้าศึกษาได้ทุกสาขาวิชาที่สถานศึกษาเปิดรับ และเลือกได้เพียง 1 สาขาวิชาหรือสาขางาน ในหนึ่งสถานศึกษาเท่านั้น

 

เลขาธิการ กอส.กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2565 ทาง สอศ.สามารถให้การสนับสนุนน้องๆ ที่สนใจเข้าเรียนทางสายอาชีพ จำนวน 8,445 คน ในวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเกษตร จำนวน 87 แห่ง ซึ่งเป็นการเรียนฟรี และมีที่พักมาตรฐานให้พักฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 3 ปีของการเรียน

 

อีกทั้งยังสนับสนุนให้น้อง ๆ มีรายได้ผ่านการจัดทำโครงการหารายได้ระหว่างเรียน รวมถึงการหาแหล่งงานให้ทำภายหลังจบการศึกษาอีกด้วย คาดหมายว่าตลอด 10 ปีของโครงการ จะรับได้จำนวน 8 รุ่น มีน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 110,000 คน และขยายการดูแลของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้ครบ 77 จังหวัด รวม 169 สถานศึกษา

 

“ทาง สอศ.ได้ประสานกับ สพฐ.เพื่อแจ้งคุณสมบัตินักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นนักเรียนในสังกัดโรงเรียนของ สพฐ. และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แล้ว นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สามารถได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการด้วย โดยคาดว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทาง สอศ.จะสามารถสรุปตัวเลขเด็กนักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมดทั่วประเทศ” นายสุเทพกล่าว และว่า

 

นอกจากนี้ ทาง สอศ.ยังได้ร่วมกับ สพฐ.ในการจัดส่งครูอาชีวศึกษาไปทำการเรียนการสอนสายอาชีพให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในบางสถานศึกษา เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน สร้างความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการเรียนสายอาชีพอีกด้วย

 

ข้อมูลล่าสุดในการค้นหา ช่วยเหลือ และพาน้องกลับมาเรียน ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ กระทรวงศึกษาธิการสามารถติดตามได้ 42,316 คน ประกอบด้วย นักเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 10,821 คน สอศ. 459 คน กศน. 21,031 คน และในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 10,005 คน

 

สำหรับโครงการ “สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ของทางสอศ. ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการการพาน้องกลับมาเรียน สามารถรับเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมตอนต้นเข้ารับการศึกษาต่อในระดับอาชีวะได้ 8,445 คน ใน 87 วิทยาลัยอาชีวะศึกษาทั่วประเทศ แบ่งเป็นนักเรียนชาย 4,730 คน นักเรียนหญิง 3,715 คน มีสาขาวิชาให้เลือกเรียนจำนวนมาก เช่น สาขาวิชาเกษตร สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ  สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ ฯลฯ เป็นต้น