โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยทุก 1 ลิตรประกอบด้วยอะไรบ้าง เช็คเลย

16 ก.พ. 2565 | 05:49 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 12:49 น.

โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยทุก 1 ลิตรประกอบด้วยอะไรบ้าง เช็คเลยที่นี่ ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับราคาขายขึ้น และลง

โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยประกอบด้วยอะไรบ้าง คงเป็นคำถามที่หลายคนเริ่มสงสัยมากขึ้น  หลังจากที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวขึ้นไม่มีหยุดไปแล้วถึง 11 ครั้งตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สืบค้นข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ในน้ำมันทุก 1 ลิตรนั้น จะประกอบด้วย 

 

  • ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 –60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

 

  • ภาษีต่างๆ ( 30 –40%) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่

 

– ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ 

 

– ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

 

– ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

 

 

ส่วนประกอบของราคาน้ำมัน 1 ลิตร

 

 

  • กองทุนต่างๆ (5 –20%) เช่น

 

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

 

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

 

  • ค่าการตลาด (10 –18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ  ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

 

ส่วนประกอบดังกล่าวทั้งหมดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการปรับขึ้นและลงราคาน้ำมันภายในประเทศ  

 

สำหรับสถานะสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565) ติดลบอยู่ที่กว่า 18,000  ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบลดภาษีน้ำมันดีเซล โดยออกเป็นร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พ.ค.2565 

 

ในการดำเนินการก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ลดลงโดยตรง และสะท้อนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ปรับลดประมาณ 3 บาทต่อลิตร 

 

ด้านราคาน้ำมันขายปลีกล่าสุดทุกชนิดน้ำมัน ได้แก่

 

กลุ่มน้ำมันดีเซล

 

  • ไฮพรีเมี่ยมดีเซล B7 ลิตรละ 35.96 บาท 
     
  • ดีเซล B7  ลิตรละ 29.94 บาท 
     
  • ดีเซล B10 ลิตรละ 29.94 บาท 
     
  • ดีเซล B20 ลิตรละ 29.94 บาท

 

ราคาน้ำมันล่าสุด

 

กลุ่มน้ำมันเบนซิน

 

  • น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ลิตรละ 43.56 บาท
     
  • แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 36.15 บาท
     
  • แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 35.88 บาท
     
  • แก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 35.04 บาท
     
  • แก๊สโซฮอล์ E85 ลิตรละ 28.34 บาท