รายงานข่าวจากบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เผยว่า ได้ร่วมมือ กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกขิง ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ กว่า 647 ครัวเรือน หลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ ต้นทุนเพิ่มทำขาดทุนหนัก คาดรับซื้อได้ 200 ตัน กระจายผ่านแม็คโครทั่วประเทศ พร้อมเปิดโอกาสเข้าถึงแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เผยว่า แม็คโคร ได้รับการประสานจากกรมส่งเสริมการเกษตรถึงปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชมเกษตรกรผู้ปลูกขิง ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ที่กำลังประสบปัญหาอย่างมากจากราคาขิงตกต่ำ จากมีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ส่งออกได้น้อย ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง แม็คโครจึงให้ความช่วยเหลือ โดยเข้าไปรับซื้อผลผลิต เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน
สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขิงแห่งนี้ มีเกษตรกรเครือข่ายอยู่ประมาณ 647 ครัวเรือน คาดจะช่วยรับซื้อขิงได้ประมาณ 200 ตัน นำไปจำหน่ายผ่านแม็คโครทุกสาขาทั่วประเทศ พร้อมจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเชิญชวนลูกค้าอุดหนุนผลผลิตของเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน โดยขิง เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและได้รับความนิยมบริโภคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้าน นายเกรตศิรา แซ่หว้า รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกขิง ต.เข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ มีสมาชิกกว่า 647 ครัวเรือน กระจายพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3,000 ไร่ ที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงนี้ราคาต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ยิ่งซ้ำเติมให้ขาดทุนหนัก ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ได้ประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ และเอกชนอย่าง แม็คโคร ซึ่งไม่ได้เข้ามารับซื้อแค่ผลผลิตอย่างเดียว แต่ยังช่วยให้ความรู้ในเรื่องการเก็บเกี่ยว การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ทำให้เกษตรกรมีแนวทางในการพัฒนาต่อยอดได้อีก
ที่ผ่านมา แม็คโคร มีนโยบายสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดและยังเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ภายใต้พันธกิจ “แม็คโคร เคียงข้างเกษตรกรไทย” รวมถึงเป้าหมายในการผลักดัน ส่งเสริม พัฒนา เกษตรกรไทย ให้เข้าถึง “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ยกระดับการทำธุรกิจเกษตรในทุกมิติ โดยเฉพาะ ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ อาทิ อีคอมเมิร์ซ ออฟไลน์-ออนไลน์ ที่จะนำพาผลผลิตเกษตรไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น