ราคาปาล์มน้ำมันไทยอาจลดลงมาอยู่ที่ 4.5-6.5 บาทต่อกก. ใน Q2/2565 ตามปัจจัยฤดูกาลและการเลือกปรับใช้สูตรไบโอดีเซล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาปาล์มน้ำมันของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 น่าจะสามารถประคองตัวในระดับสูงในกรอบ 7.5-9.5 บาทต่อกก. สอดคล้องไปกับราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่การปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเหลือ B5 เพื่อดูแลราคาน้ำมันในประเทศช่วง ก.พ.-มี.ค. กระทบความต้องการใช้ปาล์มราว 3.2 แสนตัน และมีผลให้ราคาปาล์มในประเทศย่อลงจากระดับสูงสุดในเดือนม.ค.2565 ที่ 10.3 บาทต่อกก.
ในระยะข้างหน้า จุดจับตาสำคัญ คงอยู่ที่แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาพลังงานโลก ซึ่งเฉพาะหน้าต้องติดตามกรณีรัสเซีย-ยูเครน ที่จะมีผลต่อราคาพลังงานและปาล์มน้ำมันในประเทศ รวมถึงมาตรการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในช่วงถัดไป
โดยคาดว่า ในไตรมาส 2/2565 ราคาปาล์มน้ำมันของไทยน่าจะปรับลดลงมาอยู่ในกรอบราว 4.5-6.5 บาทต่อกก. ตามปัจจัยด้านฤดูกาลที่ไทยจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด ขณะที่ในฝั่งอุปสงค์ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการเลือกใช้สูตรไบโอดีเซลที่ยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ทั้งนี้คาดว่าราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยน่าจะยังคงสูงกว่าราคาประกันที่ 4 บาทต่อกก.
ราคาปาล์มน้ำมันของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำสถิติใหม่หลายครั้งในปี 2564 จนมีราคาเฉลี่ยทั้งปีที่ 6.7 บาทต่อกิโลกรัม (ราคาเฉลี่ยปี 2559-2563 อยู่ที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม) ต่อเนื่องจนถึงในเดือนม.ค.2565 ที่ราคาได้พุ่งสูงไปแตะระดับเฉลี่ยที่ 10.3 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นราคาสูงที่สุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตลาดปาล์มน้ำมันของไทยในรอบหลายสิบปี สอดคล้องไปกับราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาน้ำมันดิบ
ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ดังนั้น จากราคาปาล์มน้ำมันที่ได้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา จึงนำมาสู่คำถามว่าหลังจากนี้ไปภาพของราคาปาล์มน้ำมันไทยจะเป็นอย่างไร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงขอสรุปมุมมองที่มีต่อประเด็นนี้ ดังนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาปาล์มน้ำมันของไทยในไตรมาสที่ 1 น่าจะสามารถประคองตัวอยู่ในระดับสูงได้ในกรอบ 7.5-9.5 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าจะเป็นระดับราคาในกรอบที่น้อยกว่าจุดสูงสุดในเดือนม.ค.2565 เฉลี่ยที่ 10.3 บาทต่อกิโลกรัม แต่นับว่ายังคงอยู่บนฐานที่สูง
สอดคล้องไปกับแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอุปทานปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะในมาเลเซียที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวและมีผลผลิตน้อย
ในช่วงที่มีความต้องการใช้ในหลายประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ท่ามกลางภาวะที่ราคาพลังงานในตลาดโลกก็ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ปาล์มน้ำมันจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่นอกจากราคาจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลกเป็นหลักแล้ว ยังขึ้นอยู่กับนโยบายภายในประเทศของภาครัฐในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย
ล่าสุด ภาครัฐได้มีมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเหลือเพียง B5 มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค.2565 เพื่อลดต้นทุนและตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ
โดยเบื้องต้นประเมินว่า จากการปรับไปใช้สูตร B5 ทดแทน B7 อาจทำให้มีปริมาณปาล์มน้ำมันสำหรับผลิตไบโอดีเซลหายไปจากระบบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ที่ราว 0.32 ล้านตันปาล์มน้ำมัน หรือคิดเป็นราวร้อยละ 2 ของปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันไทยทั้งปี ซึ่งแม้จะเป็นปริมาณที่ไม่มาก
แต่เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศกำลังทยอยออกสู่ตลาด จึงมีผลให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่า Safety Stock และยังคงมี Pent Up Demand ในหมวดอาหารรองรับอยู่ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะทำให้ราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยทั้งไตรมาสที่ 1 ยังคงสามารถอยู่บนฐานที่สูง สอดคล้องไปกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่ยังยืนในระดับสูงตามอุปทานโลกที่ตึงตัว และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังยืนระดับสูง
จากนั้น ภายใต้สมมติฐานที่ไม่เกิดสงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและชาติตะวันตก ในไตรมาสที่ 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาปาล์มน้ำมันของไทยน่าจะปรับตัวลดลงไปอยู่ในกรอบราว 4.5-6.5 บาทต่อกิโลกรัม ตามปัจจัยด้านฤดูกาลเป็นหลักที่ไทยจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก (ราวร้อยละ 34.2 ของผลผลิตทั้งปี) ขณะที่ในฝั่งของอุปสงค์ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการพิจารณาเลือกใช้สูตรไบโอดีเซล (B5/B7/B10/B20) ของภาครัฐที่ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย แต่ทั้งนี้คาดว่าราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยน่าจะยังคงสูงกว่าราคาประกันที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับทั้งปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาปาล์มน้ำมันของไทยเฉลี่ยทั้งปี 2565 น่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 5.3-7.3 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 20.5 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 (YoY) ตามปัจจัยด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จากแนวโน้มสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา Supply Disruption ที่ดีขึ้น (ปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว)
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มอาจเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตาม Pent Up Demand ที่คลี่คลายมากขึ้น ทำให้ภาพรวมราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยปี 2565 จะยังสามารถประคองตัวได้บนฐานที่สูงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2560-2564) ที่ราว 4.2 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ ในระยะสั้น ราคาปาล์มน้ำมันอาจยังสามารถประคองตัวอยู่ในเกณฑ์ดีได้จากอุปสงค์น้ำมันปาล์มที่มีรองรับ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มอาจยังถูกกว่าพืชน้ำมันทดแทนอื่น (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรพซีด น้ำมันดอกทานตะวัน) ที่ต่างก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้การใช้น้ำมันปาล์มยังมีความจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังประสบปัญหาครัวเรือนที่มีกำลังซื้อเปราะบาง และเป็นช่วงของการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19
+
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะกลาง-ยาว ด้วยกระแสรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะทำให้ปาล์มน้ำมันไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้พืชปาล์มน้ำมันอาจให้ภาพที่ไม่สดใสนักและอาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น
จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว และรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากมาตรการ Zero Palm Oil ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกระแสการต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มในอาหารของ EU จากกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค
จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ให้สินค้าอุปโภคบริโภคใน EU ต้องติดฉลาก No Palm Oil จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคน้ำมันปาล์มครั้งสำคัญ และกระจายเป็นวงกว้างจนเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคในระดับโลก โดยเฉพาะในตลาดเฉพาะกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็อาจยิ่งกระทบต่อความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันด้วยเช่นกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโลกในระยะยาว ทำให้ภาพของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกระยะข้างหน้า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับที่สูงดังเช่นในปัจจุบัน