นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอาหาร ฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสตูล สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปัตตานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
ช่วยพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ (สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ที่สามารถผลิตสินค้าอันเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้ได้รับการพัฒนามาตรฐานเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นคลัสเตอร์สินค้าเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ กรมฯ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ได้จัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วเมื่อวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 92 ราย จาก 61 บริษัท/วิสาหกิจชุมชน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน ได้รับความรู้จากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ จากดูไบ, นครเฉิงตู และกรุงกัวลาลัมเปอร์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Networking มาร่วมสร้างเครือข่ายและกระชับความสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าอาหารฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนใต้ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ โดยอาจารย์อนุสรณ์ เลิศพัฒนะกุล และอาจารย์ฐาณิญา เจนธุระกิจ ที่มาร่วมแบ่งปันเทคนิคการเจรจาการค้าและการออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้นำเสนอตัวอย่างสินค้าให้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกสินค้าศักยภาพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Coaching เป็นรายบริษัท และนำสินค้าดังกล่าว เข้าสู่งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรืองาน THAIFEX–ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2565 ต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล (พ.ศ. 2559-2563) ซึ่งสอดคล้องกับยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานแนวคิด “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก และแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564–2570 ผ่านการให้ความรู้และคำปรึกษาเชิงลึกแบบครบวงจร ตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับการส่งออก การตั้งราคาการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การปรับมาตรฐานและคุณภาพให้อยู่ในระดับสากล ความรู้ด้านการตลาดไปจนถึงการนำสินค้าไปทดลองขายจำหน่าย หรือจัดแสดง และการหาคู่ค้าทางธุรกิจ