ซิลลิค ฟาร์มา นำเข้า โมเดอร์นา เพิ่ม 2.2 ล้านโด๊ส

03 มี.ค. 2565 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2565 | 13:20 น.

แซดพี เทอราพิวติกส์ ภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา นำเข้าวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์น่า งวดล่าสุดจำนวน 2.2 ล้านโด๊ส จากสหรัฐอเมริกาพร้อมส่งมอบให้ องค์การเภสัชกรรม และ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กระจายต่อ

แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชีย เปิดเผยว่าบริษัทฯ กำลังทยอยนำเข้าวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา งวดล่าสุดจำนวน 2.2 ล้านโด๊ส จากแหล่งผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่ได้รับการแจ้งยืนยันจากบริษัทโมเดอร์นา

เภสัชกรหญิงสุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้รับการยืนยันจากบริษัทโมเดอร์นาว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาในงวดล่าสุดจำนวน 2.2 ล้านโด๊ส ให้แก่องค์การเภสัชกรรมและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ได้นำเข้ามาแล้วจำนวน 1.4 ล้านโด๊ส และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นำเข้าอีกจำนวน 0.79 ล้านโด๊ส รวมเป็นการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา ตั้งแต่งวดแรกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 7.79 ล้านโด๊ส

ทั้งนี้แซดพี เทอราพิวติกส์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนแก่ประชาชนและสนับสนุนประเทศไทยในการรับมือกับโควิด-19 โดยนำเอาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มาสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเสริมสร้างเกราะป้องกันที่จำเป็นต่อสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล Variants of Concern

ทั้งนี้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงน่ากังวลอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 จากสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ล่าสุดทางวารสาร New England Journal of Medicine ได้มีรายงานถึงข้อมูลประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หลังจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA-1273 พบว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นในขนาด 100 ไมโครกรัม ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจากเดิมได้ถึงประมาณ 50 เท่า เมื่อเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันสูงสุดที่เคยวัดได้หลังจากการได้รับวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้ว 4 สัปดาห์

 

ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นมาน่าจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนลง จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่าระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนมีการลดระดับลง แต่ก็ยังคงตรวจพบภูมิคุ้มกันดังกล่าวในอาสาสมัครทุกคน