กพช.อุบมาตรการแก้น้ำมันแพง ขอเวลา 2 วันให้คำตอบ

09 มี.ค. 2565 | 10:52 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 18:00 น.

การประชุม กพช. เคาะมาตรการแก้น้ำมันแพง แต่กระทรวงพลังงานแจ้งรองนายกฯ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ขอให้ไปแถลงมาตรการทั้งหมดวันที่ 11 มี.ค.นี้แทน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า กพช. ได้เห็นชอบมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงแล้ว แต่ยังไม่สามารถแถลงรายละเอียดได้ หลังจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ได้ขอให้ยกมาตรการทั้งหมดไปแถลงวันที่ 11 มี.ค.นี้แทน 

 

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลื่อนการแถลงมาตรการดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 11 มี.ค.นั้น สร้างความงุนงงกับผู้ที่รอรับฟังมาตรการการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างมาก เพราะก่อนหน้าการประชุมกพช. นายสุพัฒนพงษ์ ได้ออกมายืนยันว่าให้ขอให้ประชาชนรอมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาในวันนี้ แต่ท้ายที่สุดกลับไม่มีการแถลงออกมาอย่างเป็นทางการ

 

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะแถลงภายหลังการประชุมกพช.ว่า จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลจนกว่าจะตรึงไม่ได้ โดยยังตรึงไปให้อยู่ในระดับ 30 บาทต่อลิตร จนกว่าจะรับไม่ได้

 

โดยจะดูราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หากขึ้นไปถึง 130 -180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วจะทำอย่างไร ส่วนมาตรการดูแลกลุ่มเบนซิน ก็ต้องหามาตรการที่เหมาะสม และต้องหามาตรการเฉพาะกลุ่มต่อไปด้วย

นายกุลิศ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ขอไม่แถลงมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันในครั้งนี้ แม้จะได้รายงานนายกฯ รับทราบทั้งหมดแล้ว เป็นเพราะถ้าแถลงออกมาในทันที อาจส่งผลให้เกิดการกักตุน

 

อย่างไรก็ตามในขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์เอาไว้แล้ว โดยจะสามารถรองรับได้ถึงน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นไปถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

“ยืนยันว่า เราเตรียมมาตรการไว้แล้ว แต่ถ้าแถลงหมดหรือประกาศหมดก็ไม่ใช่มาตรการในการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ตอนนี้มีการเสนอไว้แล้วตามแผนว่า หากเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ต้องทำยังไง เกิน 100-130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เกิน 131-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือพุ่งเกิน 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลจะรองรับยังไงบ้าง”

ปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ ในการตั้งโต๊ะแถลงมาตรการทั้งหมด จะมีทั้งการเปิดเผยสถานการณ์พลังงาน การตรึงราคาน้ำมัน การดูแลก๊าซแอลพีจี (แก๊สหุงต้ม) รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือ และมาตรการประหยัดพลังงาน

 

โดยมีหัวหน้าหน่วยงานของระทรวงพลังงานทุกหน่วยงานมาชี้แจงพร้อมกับรองนายกฯ ประกอบด้วย กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)