นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ว่า ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กม. งบประมาณ 29,236,616,000 บาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ (เฟส) ได้แก่ เฟสที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ช่วง กม.11+959 พื้นที่กรุงเทพฯ สิ้นสุด กม. 20+295 อ.เมืองสมุทรสาคร ระยะทางรวม 8.3 กม. วงเงินรวม 10,477,386,000 บาท โครงการนี้เป็นการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจร ไป-กลับด้านละ 3 ช่อง แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ตอน ปัจจุบันในภาพรวมความคืบหน้าผลงานรวม 61% ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในเดือน มิ.ย.66
ขณะที่การก่อสร้างเฟส 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณ กม.20+295 อ.เมืองสมุทรสาคร สิ้นสุด กม.36+645 อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินจากการประมูล 18,759,230,000 บาท โครงการนี้มีขนาด 6 ช่องจราจร ไป-กลับด้านละ 3 ช่อง แบ่งเป็น 10 ตอน เริ่มสัญญาวันที่ 1 ก.พ.65 สิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค.68 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ปัจจุบันในภาพรวมทั้ง 10 ตอน ได้เข้าพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และ ได้บริหารจัดช่องจราจร 10 ช่อง ไป-กลับเท่าเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง รวมทั้งตั้งศูนย์บริการจัดการจราจรทั้ง 10 ตอนในช่วงก่อสร้าง ลดผลกระทบผู้ใช้ทางน้อยที่สุด ทั้งนี้ได้ดำเนินการตาม 6 มิติ ได้แก่ บริหารพื้นที่ร่วม การออกแบบ เร่งรัดก่อสร้าง บริหารจราจร ประชาสัมพันธ์ และ ช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ม.ค.68 ตามสัญญา
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้ก้าวต่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2 ปัจจุบันมีปริมาณจราจรมากกว่าแสนคันต่อวัน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า สำหรับการก่อสร้าง M82 เฟส 1 จำนวน 3 ตอนนั้น ตามสัญญาต้องแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.65 แต่เบื้องต้นประเมินแล้วพบว่า จะต้องมีการขยายสัญญาออกไปอีก 10 เดือน เริ่มตั้งแต่ ก.ย.65-มิ.ย.66 เนื่องจากมีปัญหารื้อย้ายสาธารณูปโภค รวมทั้งปัญหาส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง ทำให้เข้าพื้นที่ล่าช้า เพราะต้องรอให้โครงการขยายถนนพระราม 2 จากขนาด 10 ช่อง ไป-กลับ เป็น 14 ช่อง ไป-กลับ แล้วเสร็จก่อน เข้าพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบปริมาณจราจรบนถนนพระราม 2 และผลกระทบโควิด-19 ประมาณ 4 เดือน เพราะมีการปิดแคมป์คนงานไป 2 เดือนด้วย
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะต้องดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทล. อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมลงทุนจากกระทรวงคมนาคม และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 65 ก่อนจะวางแผนติดตั้งงานระบบในปี 66-68 คาดว่าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 68