หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมปัดฝุ่นโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุน 1.427 แสนล้านบาท มาดำเนินการต่อ หลังจากประสบผลสำเร็จในการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 82,000 ล้านบาทไปแล้วนั้น
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า ผลการประมูลรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ก่อนหน้า ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า เพราะแม้ รฟม.จะอ้างว่า เป็นการประกวดราคานานาชาติ(International Competition Bidding : ICB) แต่เนื้อแท้ของการประมูลกลับมีการกำหนดเงื่อนไขบริษัทรับเหมาที่จะเข้าประมูล ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินที่เป็น Local content กับทางการไทย ทำให้มีเพียงผู้รับเหมาในประเทศเพียง 3-4 รายเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์เข้าประมูลเปิดทางให้ทุนการเมืองจัดฮั้วประมูลได้ในที่สุด ผลประกวดราคาที่ได้จึงต่ำกว่าราคากลางเพียง 157.94 ล้านบาท หรือ 0.19% เท่านั้น
ในส่วนของการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม)ที่ รฟม.จะปัดฝุ่นมาดำเนินการต่อนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มีความแตกต่างไปจากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เพราะรฟม.ไม่ได้แยกเนื้องานก่อสร้างออกมาประมูล แต่จะดำเนินการประมูลแบบโปรเจ็กต์เป็นสัญญาเดียว โดยเอกชนที่ได้งานรับเหมาก่อสร้างส่วนตะวันตก จะได้งานจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและสัมปทานเดินและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าทั้งโครงการ (O&M)ระยะเวลา 30 ปีไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟม.มีความพยายามจะนำเกณฑ์ประมูลคัดเลือกใหม่โดยจะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบหรือ Price Performance มาใช้ แต่ถูกบริษัทรับเหมาที่เข้าร่วมประมูลฟ้องร้องทำให้ต้องยกเลิกการประมูลไปในที่สุด
ล่าสุดมีรายงานว่า รฟม.เตรียมปัดฝุ่นโครงการนี้กลับมาดำเนินการใหม่ในช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค.65 นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างเงื่อนไขประมูลใหม่ที่จะมีขึ้น โดยรฟม.ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้เกณฑ์ใดพิจารณาชี้ขาด แต่มีการคาดการณ์ว่า คงจะไม่ต่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่อ้างว่าเป็นเกณฑ์ประมูลปกติหรือ Price Only ชี้ขาดกันที่ข้อเสนอราคา และเป็นการประกวดราคานานาชาติ (ICB) แต่จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิด โดยบริษัทรับเหมาที่จะเข้าประมูล ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน (Local Content) ที่เปิดให้บริการแล้ว และต้องผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเกิน 85% จึงจะมีสิทธิ์เข้าแข่งขันด้านราคา
ดัน”แอร์พอร์ตลิงค์”เข้าร่วมชิงดำ
ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า กลุ่มทุนการเมืองที่คุมเกมประมูล ยังผลักดันให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขประมูลใหม่ โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าร่วมประมูลต้องมีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า (Operator) ที่มีประสบการณ์เดินรถเกิน 10 ปีเข้าร่วมด้วยเนื่องจากได้รวมงานจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถไว้ด้วยกัน จึงทำให้กลุ่มบริษัทรับเหมาที่จะเข้าประมูลจะต้องแสวงหาพันธมิตรเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ
ทั้งนี้การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้ในเมืองไทยมี Operator ที่สามารถเข้ายื่นข้อเสนอได้เพียง 3 รายเท่านั้นคือ BEM ,BTS และบริษัทรถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่บริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ก่อนหน้า รวมทั้งเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงในปัจจุบัน โดยได้มีการเดินเกมเจรจาที่จะให้บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จับมือกับ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ(ST) แยกตัวออกมายื่นประมูลโดยตรงซึ่งจะทำให้กลุ่ม BSR ที่เดิมที่มี ST ร่วมเป็นพันธมิตรอยู่ด้วยต้องแสวงหาพันธมิตรใหม่เข้าร่วม ซึ่งไม่ว่าจะดึงบริษัทรับเหมาจากต่างประเทศรายใดเข้ามา ก็ยากจะผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิค ที่กำหนดให้ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินกับรัฐบาลไทย จึงทำให้สุดท้ายแล้ว โครงการนี้จะเหลือเพียงกลุ่ม CK-BEM และ ITD เข้าร่วมประมูลเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาเนื้องานโครงการที่ต้องรวมการจัดหาระบบรถไฟฟ้าและบริหารโครงการด้วยแล้ว กลุ่ม CK-BEM จึงน่าจะชนะประมูลตั้งแต่ในมุ้ง
ตีกันต่างชาติเข้าร่วม
หากพิจารณาเกณฑ์ประกวดราคาครั้งใหม่ของ รฟม.น่าจะสร้างปัญหาตามมาอยู่ดี เพราะขัดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯภาครัฐ และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประกวดราคานานาชาติ เพราะการกำหนดเงื่อนไขที่เป็น Local content ที่ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเกิน 1,0000 ล้านบาท ที่เปิดดำเนินการแล้ว ทำให้มีกลุ่มรับเหมายักษ์ในประเทศที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าวอยู่เพียง 2 รายเท่านั้นคือกลุ่ม CK และ ITD ขณะที่ STECON ที่ร่วมประมูลในกลุ่ม BSR เดิมนั้น แม้จะมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน แต่เป็นการรับเหมาที่ทำงานร่วมกับกลุ่ม ITD ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกที่ยังไม่เปิดให้บริการ ทำให้ขาดคุณสมบัติไปในทันที
“จะเรียกว่าเป็นการประมูลนานาชาติได้อย่างไร ในเมื่อกำหนดเกณฑ์ที่เป็น Local content ตีกันบริษัทรับเหมาต่างชาติเอาไว้แบบนี้ ต่อให้เอาบริษัทรับเหมาจากจีน อย่างบริษัท ไชน่าเรียลเวย์ที่มีประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เข้ามาร่วมก็ไม่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคอยู่ดี ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คงฝากความหวังไว้ที่นายกฯและตัวแทนเครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นที่จะเข้ามาร่วมสังเกตุการณ์ประมูลโครงการนี้จะได้จับตาความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เพราะเหตุใด รฟม.ถึงต้องดิ้นรนในทุกวิถีทางเพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทั้งที่หากประมูลปกติโครงการน่าจะได้ผู้ชนะประมูลร่วมลงทุนในโครงการนี่ไปตั้งนานแล้ว”