ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. วันที่ 2 มี.ค. 2565 มีมติปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทย ปี 2565 ลงเหลือ 2.5-4.5% จากเดิมคาดการณ์ขยายตัว 3.0-4.5% การส่งออกทั้งปียังคงไว้ที่ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2-3% จากเดิมคาด 1.5-2.5% ขณะที่กระทรวงการคลังห่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหลุดกรอบจากที่วางไว้ที่ 3.5-4.5%
ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์กรณีเลวร้ายสุดข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครนหากยืดเยื้อไปตลอดทั้งปีนี้ จะกระทบเศรษฐกิจไทยเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.44 แสนล้านบาท และจีดีพีจะขยายตัวได้เพียง 2.7% ซึ่งเป็นผลพวงหลักจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และกำลังส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง ต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานนำเข้าราคาสูงขึ้น มูลค่าการส่งออก การท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนไทยในเวลานี้ต้องผนึกกำลังและปรับแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับวิกฤติ โดยมีข้อเสนอจากภาคเอกชนที่รัฐบาลควรรับฟังและนำไปประยุกต์ใช้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ นอกจากส่งผลกระทบทางตรงต่อการค้าไทย-รัสเซีย และการค้าไทย-ยูเครนที่จะลดลงแล้ว ยังกระทบทางอ้อมต่อผู้ส่งออกไทยที่กำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้น จากราคาพลังงานและวัตถุดิบนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น และหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น และขยายวงกว้างอาจกระทบต่อตลาดยุโรป ที่ไทยส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกในภาพรวม และจะส่งผลต่อภาพรวมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ทั้งนี้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปรับตัวรับมือกับวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สำคัญได้แก่ การหารือและร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง, สื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างสม่ำเสมอให้กับภาคประชาชนและเอกชน, การจัดสรรงบประมาณควรนำไปสู่การใช้จ่ายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด เช่น การดูแลและเยียวยาระยะสั้น เน้นการลงทุนเพื่ออนาคต เพิ่มการสร้างงานและเพื่อวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เป็นต้น
ขณะที่ภาคเอกชนควรเตรียมพร้อมวางแผนรับมือ โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด, ต้องประเมินผลกระทบและมีแผนรับมือล่วงหน้ากรณีสถานการณ์รุนแรงเฉียบพลัน หรือยืดเยื้อ, การรักษาสภาพคล่องในระยะสั้นให้เพียงพอ หรืออาจเก็บเงินสำรองกรณียืดเยื้อ
ส่วนข้อเสนอของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือในยามวิกฤตินี้ เช่น ช่วยควบคุมราคาต้นทุนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การเข้าไปดูแลราคาน้ำมันอย่างจริงจัง, ดูแลเรื่องอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจนอาจกระทบต่อเกษตรกรและห่วงโซ่การผลิตเนื้อสัตว์และอาหารที่เกี่ยวข้อง และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน, รัฐต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์โดยต้องตั้งรับในกรณีเลวร้ายที่สุด เพื่อเมื่อเกิดปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีเพื่อลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของประเทศ
นอกจากนี้ขอให้ชะลอปรับขึ้นภาษีความหวานที่ผสมเครื่องดื่มของปี 2565 ออกไปก่อน (ภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 จะบังคับใช้ 1 ต.ค. 65) เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงกำลังจะฟื้นตัว, ขอให้ชะลอการพิจารณาเก็บภาษีความเค็มตามปริมาณโซเดียมในอาหาร ซึ่งหากจะเก็บต้องเก็บในอัตราที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญสูง 6 กลุ่ม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf Stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว และขอให้พิจารณายกเลิกมาตรการเก็บอากรเอดีแผ่นเหล็ก Tin plate และ Tin free ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กระป๋องสูงขึ้น ทั้งอาหารกระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง หรือสีกระป๋อง เป็นต้น เนื่องจากการผลิตในประเทศของแผ่นเหล็กทั้ง 2 ชนิดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ สรท.คาดจะส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อและการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หายไปมากกว่า 1 แสนล้านบาท มีข้อเสนอแนะกลยุทธ์เชิงรับแก่เอกชน อาทิ ติดตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อกำไรหรือขาดทุน, บริหารจัดการเรื่องการใช้พลังงาน รวมถึงปรับลดการใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรักษาคุณภาพสินค้าและลูกค้า, บริหารจัดการสต๊อกสินค้าในระยะสั้น เนื่องจากวัตถุดิบอาจขาดแคลนและปรับขึ้นราคา
“ส่วนกลยุทธ์เชิงรุก เช่น เร่งมองหาช่องทางเปิดตลาดประเทศอื่นเพิ่มเติมแทนตลาดรัสเซียและยูเครน เตรียมรับมือกับตู้สินค้าขาดแคลน จากการถูกแซงก์ชั่นและการสู้รบ จะทำให้มีตู้สินค้าตกค้างที่รัสเซีย (ตู้สินค้าเข้าออกรัสเซียประมาณ 4 ล้านตู้ต่อปี) รวมถึงตารางเดินเรือที่เปลี่ยนไปจากท่าเรือที่รัสเซียถูกปิด รวมถึงใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ในหลายกรอบที่เรามีอยู่ เฉพาะอย่างยิ่ง RCEP ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ลงทุนพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนราคาพลังงานในระยะยาว”
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอย่างมาก จากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว เวลานี้ยิ่งส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบผู้รับเหมาและภาคเอกชนทุกส่วน
“ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขผลกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้างจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เบื้องต้นราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนจะได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร คงต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน”
สำหรับแผนรับมือของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ผ่านมาทางสมาคมฯเคยขอให้ภาครัฐพิจารณาค่า “เค” (ค่าดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน) ใหม่ ปัจจุบันทางสมาคมฯอยู่ระหว่างจัดทำหนังสือสอบถามถึงกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาการปรับราคากลางและค่าเค รวมทั้งขอร่วมประชุมหารือเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการหาแนวทางดำเนินการต่อไปว่าสามารถพิจารณาปรับราคากลางและค่าเคได้เมื่อไร เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน กลายเป็นปัจจัยซํ้าเติมตลาดที่อยู่อาศัย ที่เจ็บหนักจากเศรษฐกิจยํ่าแย่ จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว หากความขัดแย้งของทั้งสองประเทศยังยืดเยื้อ จะกระทบศรษฐกิจไทยแน่นอน และจะทำให้อนาคตของภาคอสังหาฯ ประสบภาวะยากลำบากขึ้นไปอีก เพราะเมื่อไรที่เศรษฐกิจตกตํ่าจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน ยิ่งช่วงหลังแนวโน้มดอกเบี้ยมีโอกาสขยับขึ้น จะยิ่งกดดันต่อการขออนุมัติสินเชื่อ โดยภาพรวมตลาดอสังหาฯ เวลานี้เต็มไปด้วยปัจจัยลบ แม้จะมีมาตรการสนับสนุนของรัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนอง เหลือ 0.01% แต่ก็ช่วยกระตุ้นไม่ได้มากนัก
“ภาคอสังหาฯ กำลังอยู่ในภาวะลำบาก สิ่งที่ทำได้ คือ การพยายามระบายสต๊อก เพื่อรักษาสภาพคล่อง ตัดทิ้งกำไรไปบางส่วน เพราะปัจจัยแวดล้อม แทบจะไม่มีเชิงบวก ยังต้องจับตาสถานการณ์สงครามแบบรายวันอีก โดยคาดหวังว่าจะมีการเจรจาและนำสู่การคลี่คลายปัญหาในเร็ววัน”
สำหรับข้อเสนอในช่วงที่กำลังซื้อในประเทศมีปัญหา แต่กลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ ยังมีความต้องการสูง ที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในไทย จึงอาจถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องปลดล็อกกฎหมายเกี่ยวข้อง เพื่อนำเม็ดเงินขนาดใหญ่จากต่างประเทศ เข้ามาฟื้นฟูอุตสาห กรรม และกระจายเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจฐานราก โดยแนวความคิด และกระบวนการที่สำคัญ สมาคมฯพร้อมให้ความร่วมมือและนำเสนอต่อไป
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนมีผลให้นักท่องเที่ยวจาก 2 ประเทศนี้หดหายไป รวมถึงมีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา จากการถีบตัวของราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งที่ ททท. จะต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การปรับน้ำหนักการส่งเสริมตลาด โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายในตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทดแทนตลาดรัสเซียและยุโรป ได้แก่
1.กลุ่มตลาดที่ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับมาตรการเดินทางระหว่างประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และเป็นตลาดที่เส้นทางการบินไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน หรือได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะล่าสุดไทยและอินเดียได้เจรจาทำทราเวล บับเบิ้ลด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน รวมถึงตลาดจากโอเชียเนีย (ออสเตรเลีย) ตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดิอาระเบีย ที่เพิ่งกลับมาฟื้นความสัมพันธ์อีกครั้งหลังหายไปนานกว่า 30 ปี และจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน
2.กลุ่มตลาดที่มีการผ่อนปรนมาตรการเดินทางขากลับเข้าประเทศ (ลดวันกักตัว) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 และเป็นตลาดที่เส้นทางการบินไม่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤตรัสเซีย -ยูเครน หรือได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ได้แก่ กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3765 วันที่ 13 -16 มีนาคม 2565