ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียกล่าวระหว่างการประชุมกับคณะรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) ว่า รัสเซีย จำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับบรรดาบริษัทต่างชาติที่ตั้งใจพักดำเนินการหรือปิดกิจการ โดยรัฐบาลเตรียมจะบังคับใช้แนวทางการบริหารจัดการจากภายนอกเพื่อเข้า ยึดกิจการ เหล่านี้ ก่อนส่งผ่านไปให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนที่มีความพร้อมทำงานในรัสเซีย พร้อมย้ำว่า รัสเซียจะหาวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเข้ายึดครองกิจการบริษัทเหล่านี้
ท่าทีดังกล่าวของปธน.ปูติน เป็นการแสดงให้กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียเชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรที่รัฐบาลแก้ไขไม่ได้ โดยเขายอมรับว่าแม้รัสเซียจะเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกบ้างแล้ว แต่รัสเซียก็จะสามารถก้าวผ่านไปได้เหมือนเช่นการคว่ำบาตรในหลายๆ ครั้งในอดีต และท้ายที่สุดรัสเซียจะสามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม เป็นอิสระมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และมีอธิปไตยมากขึ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ พรรครัฐบาลรัสเซีย ได้ยื่นเสนอมาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อบริษัทต่างชาติที่ร่วมวงกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกในการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยหากบริษัทต่างชาติเหล่านั้นปิดร้านหรือถอนกิจการออกไป รัสเซียจะยึดสินทรัพย์และโรงงานของบรรดาบริษัทดังกล่าวให้ตกเป็นของรัฐ โดยนายอังเดร ตูรชัค เลขาธิการ พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของรัสเซีย กล่าววานนี้ (10 มี.ค.) ว่า รัฐบาลควรยึดโรงงานของชาวต่างชาติซึ่งได้ประกาศปิดการดำเนินงานในรัสเซีย ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก เนื่องจากการปิดการดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็นการทำสงครามต่อประชาชนชาวรัสเซีย
"พรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ขอเสนอให้มีการยึดโรงงานเหล่านี้ให้ตกเป็นของรัฐ เนื่องจากมีการปิดการดำเนินงานหลังจากที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน โดยเราจะไม่อดทนต่อการถูกแทงข้างหลัง และเราจะปกป้องประชาชน เราจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างรุนแรงตามกฎหมายที่ใช้ในยามสงคราม" นายตูรชัคกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติหลายแห่ง เช่น โตโยต้า ไนกี้ และอิเกีย ต่างก็ประกาศปิดการดำเนินงานชั่วคราวในรัสเซียเพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการโจมตียูเครน
อ่านเพิ่มเติม: ธุรกิจนานาชาติร่วมกระแส "แบนรัสเซีย" แห่ปิดสำนักงาน-ย้ายฐานการผลิต
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อต้นสัปดาห์ (7 มี.ค.) ว่า การทำสงครามของรัสเซียในยูเครนส่งผลให้ รัฐบาลรัสเซียถูกคว่ำบาตร และลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจมากมายหลายรูปแบบ จนทำให้เศรษฐกิจรัสเซียพัง ซ้ำยังขัดขวางการให้บริการและดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซียด้วย
แมรี เลิฟลี นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันรัฐศาสตร์ปีเตอร์สัน (Peterson Institute) ในกรุงวอชิงตัน อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจที่ทั่วโลกพากัน “รังเกียจ” และ “หันหลังให้”
ทั้งนี้ บริษัทพลังงาน ทั้งใหญ่และเล็กจากชาติต่าง ๆ ก็ได้ประกาศยกเลิกการลงทุนในโครงการใหญ่ๆกับรัสเซียไปแล้ว อาทิ
สำหรับภาคธุรกิจอื่นๆ ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่ได้ออกมาประณามรัสเซียอย่างชัดเจนต่อการส่งกองทัพบุกยูเครน นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปรากฏการณ์ข้างต้น นอกจากจะเป็นไปเพื่อต้องการป้องกันธุรกิจของตนเองจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกแล้ว และยังถือเป็นการรักษาภาพลักษณ์อันดีของบริษัทด้วยว่าไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับฝ่ายผู้รุกราน