อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดงาน “วันช้างไทย” 13 มีนาคม

13 มี.ค. 2565 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2565 | 15:33 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย เปิดงานวันช้างไทย “ วิถีคน วิถีช้าง สู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ” 13 มีนาคม อย่างเป็นทางการ

วันที่ 13 มีนาคม 2565   เวลา10.30น.นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์  เป็นประธานกล่าวเปิดงาน วันช้างไทยเพื่อเป็นการระลึกถึงช้างไทยที่เป็นสัตว์ประจำชาติ มีคุณค่า ต่อบ้านเมืองไทย และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักและทดแทนคุณของช้าง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมปศุสัตว์และภาคีเครื่อข่ายเข้าร่วมเป็นเกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้

 

ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้กล่าวบรรยายเรื่อง “ช้างไทยกับภารกิจแห่งอนาคตของกรมปศุสัตว์”  ซึ่งในงานมีการเสวนา เรื่อง “ปฏิญญาจรรยาบรรณควาญช้างไทย : อีกทางรอดของช้างไทยในอนาคต”  และ  “เทคโนโลยีช่วยช้างชราจากโรคไตได้อย่างไร”  ซึ่งมีวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ อาทิ  ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ  รศ.น.สพ.ปานเทพ  รัตนากร  อ.เกียรติสกุล  ชลคงคา  อ.น.สพ.ฐิติพงษ์ ปลั่งแสงมาศ  โดยมี คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมงานวันช้างไทย ในวันนี้  นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2541คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันช้างไทย ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติมีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทั้งในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศไทย และเป็นสัตว์คู่พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ

 

ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องร่วมไม้ร่วมมือกันดูแลช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างไทยในส่วนของกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดูแลด้านช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน ทั้งด้านสุขภาพช้าง การควบคุมป้องกันโรคและการรักษาโรค ตลอดจนการป้องกันการทารุณกรรม  และส่งเสริมการจัดสวัสดิภาพของช้าง กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องช้างไทย  โดยกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ  มีหน้าที่รับผิดชอบ ร่วมกับ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ 

 

บรรยากาศงาน

 

ดำเนินการด้านสุขภาพของช้าง ฝึกอบรมนายสัตวแพทย์ในจังหวัดที่มีการเลี้ยงช้าง ให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพช้างและจัดตั้งทีมหมอช้างในพื้นที่ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันคชบาล องค์การสวนสัตว์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สำหรับการรักษาทางไกล หรือ Telemedicine และผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้จะเป็น consultant ให้หมอในพื้นที่ โดยมีสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานสร้างเครือข่ายและแนวร่วม  ทั้งวางแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคช้างที่สำคัญซึ่งอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับช้างได้แก่  โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส และโรควัณโรค

 

 

 โดยการสนับสนุนส่งเสริมการคิดค้นวิธีการตรวจวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรคดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อหยุดยั้งการเกิดและการระบาดของโรค  ซึ่งการรักษาโรคในช้างแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลกระทบต่อเจ้าของช้างส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในชนบท อาจไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ กรมปศุสัตว์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องการพัฒนาสุขภาพให้ช้างมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อลดการเจ็บไข้ได้ป่วย  ในการนี้กรมปศุสัตว์บริการตรวจสุขภาพช้างและการถ่ายพยาธิประจำปี

 

รวมทั้งส่งเสริมและจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชอาหารที่เหมาะสมกับช้างสำหรับให้เจ้าของช้างปลูกเสริมในฤดูแล้งที่ขาดอาหารตามธรรมชาติด้านการส่งเสริมอาชีพควาญช้าง กรมปศุสัตว์เห็นว่าอาชีพควาญช้างมีส่วนสำคัญในการดูแลช้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นมีส่วนสำคัญในธุรกิจที่เกี่ยวกับช้าง การสนับสนุนให้มีการยกฐานะอาชีพควาญช้าง ให้มีมาตรฐานวิชาชีพควาญช้างตามที่สถาบัน  คุณวุฒิวิชาชีพได้จัดทำขึ้น จึงเป็นภาระหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ที่มุ่งหวังให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของควาญช้างให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นการอนุรักษ์วิชาชีพที่ทรงคุณค่านี้ไว้ด้วย 

 

วันช้างไทย

 

ด้านการรับรองมาตรฐานปางช้าง เพื่อยกระดับปางช้างให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการจัดการเลี้ยงช้าง การจัดสวัสดิภาพช้างการใช้งานช้าง การจัดการสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม  ได้มีการอบรมผู้ประกอบการรุ่นแรก มีปางช้างที่กำลังตรวจรับรอง และได้มีปางช้างที่ผ่านการรับรองมาตรฐานปางช้างเรียบร้อยแล้ว

กรมปศุสัตว์ มีแนวคิดส่งเสริมปางช้างที่มีการจัดสวัสดิภาพช้างเป็นอย่างดี โดยอาจมีการให้ใบรับรองปางช้าง OK สำหรับให้ปางช้างเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการต่อไป“ นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังมีแนวคิดที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ  ในการดูแลช้าง  อาทิ  การใช้ยาใหม่ๆ  หรือ วิธิการตรวจวินิจฉัยโรค ที่สะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายและมีประสิทธิภาพสูง  การใช้โดรนตรวจช้างที่กำลังตกมันหรือช้างที่อาจทำอันตรายหมอหรือเจ้าหน้าที่หากเข้าไปใกล้   และได้ประสานบริษัทผู้ผลิต โดรนในการพัฒนาให้สามารถใช้ยิงยาสลบ

 

เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานและตัวของช้างด้วย  กรมปศุสัตว์เร่งบูรณาการความร่วมมือในการทำงานอย่างต่อเนื่องกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์  ในการดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อช้างอย่างสูงสุด  ซึ่งกรมปศุสัตว์ ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลช่วยเหลือช้างอย่างเต็มกำลังเพื่อนำไปสู่การยกระดับการคุ้มครองช้างไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ”  อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว