พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยในงานพิธีเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง ว่า วันนี้ก็เป็นอีกวันสำคัญในชีวิตที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งที่นี่มีความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนของพื้นที่ โดยสนามบินเบตง ตกแต่งด้วยไม้ไผ่ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพราะว่าคำว่าเบตง เป็นภาษาถิ่นมลายูซึ่งแปลว่าไม้ไผ่ซึ่งจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอำเภอเบตง และเส้นทางสายถือว่า เป็นเส้นทางการบินที่สวยที่สุดทางหนึ่งเพราะผ่านน้ำฟ้าป่าเขา เป็น Solft Power
ขณะที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เมืองเบตงนั้นเป็นเมืองต้นแบบและการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนซึ่งเป็นไปตามนโยบายสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน โดยการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่รวมทั้งให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และเป็นเมืองชายแดนที่มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจการค้าประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
นอกจากนี้รัฐบาลจะพยายามเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสนามบินเบตงเป็นสนามบินลำดับที่ 29 ของประเทศไทยทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนทั้งในด้านการขนส่งและการเดินทางอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นศูนย์กลางการเป็นของภูมิภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายมาอย่างต่อเนื่องในการที่จะสร้างระบบขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานสากล ทั้งนี้สนามบินเบตงเริ่มมีการศึกษาปี 2558 ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จและทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ต้องใช้เวลาต้องสร้างความเข้าใจต้องชี้แจงในเรื่องต่างๆให้ถี่ถ้วนจนสามารถอนุมัติงบประมาณออกมาได้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดย ทย.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 และนโยบายการพัฒนา 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เนื่องจากอำเภอเบตงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับจังหวัด รองจากอําเภอเมืองยะลา แต่การเดินทางในปัจจุบันต้องอาศัยการเดินทางทางถนนเป็นหลัก ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ถนนแคบและคดเคี้ยวลาดชันเป็นช่วง ๆ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากอำเภอเบตงไปยังเมืองอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมของอําเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียง ท่าอากาศยานเบตงจึงเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้สนามบินเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งมีความพร้อมให้บริการตามมาตรฐาน เริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ - เบตง - กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ซึ่งเส้นทางการบินและการขึ้น - ลงของอากาศยานจะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น นอกจากเส้นทางให้บริการภายในประเทศแล้ว ท่าอากาศยานเบตงยังมีความพร้อมที่จะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Regional Hub) เส้นทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในอนาคตด้วย
นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า สำหรับการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์สนามบินเบตงในครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจของกรม และกระทรวงคมนาคม ที่สามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยสนามบินนี้ถือเป็นสนามบินที่มีความพร้อมรองรับเครื่องบินที่มีขนาด 80 ที่นั่งได้ อาทิ ATR-Q 400 เป็นต้น
ขณะเดียวกันในอนาคตจะมีการเพิ่มเที่ยวบิน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง สุวรรณภูมิ-เบตง และหาดใหญ่-เบตง จากเดิมที่มีเฉพาะเส้นทาง ดอนเมือง-เบตง โดยเส้นทาง หาดใหญ่-เบตง คาดว่าจะได้เห็นการเปิดให้บริการภายในปี 2565 นี้ ซึ่งถ้าทำได้จะส่งผลดีต่อพื้นที่เพราะห่างจากชายแดนมาเลเซียประมาณ 20 กิโลเมตร (กม.) โดยสามารถรองรับชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐเคดะห์ และรัฐเปรัก ที่มีประชากรประมาณ 4.2 ล้านคน ซึ่งหากทำได้จริงอุตสาหกรรมการบินจะกลับมารับผู้โดยสารได้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตก็กรมมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการอีก 1 เส้นทาง คือ เบตง-มาเลเซีย แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นผู้พิจารณาต่อไป
ส่วนสนามบินเบตงจะถึงจุดคุ้มทุนที่ไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐได้เมื่อไหร่ นั้น ทางกรมประเมินว่าหลังจากนี้อีก 6 เดือน จะได้ความชัดเจนว่าสนามบินจะอยู่ได้หรือไม่ แต่กรมเชื่อว่าสนามบินจะไปต่อได้ เดี๋ยวกันสายการบิน ที่มาทำการบินที่เบตงก็เชื่อว่า การเปิดเส้นทางนี้จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนได้แน่นอนอย่างไรก็ตาม สนามบินเบตงสามารถรองรับผู้โดยสาร 800,000 คนต่อปี
"สำหรับสายการบินที่มีความสนใจขอเปิดทำการบินในเส้นทางดังกล่าว ทางกรมมีพร้อมที่จะรับพิจารณา แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ด้วย ยืนยันว่าการเปิดสนามบินใหม่แห่งที่ 29 ของ ทย. เราทำเพื่อประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้สนามบินเบตงเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ให้ได้ ซึ่งตอนนี้สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของชายแดนภาคใต้ ได้ถือกำเนิดแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้นโยบายไว้ ต้องมีความเชื่อมโยง ถามทางถนนและขนส่งทางบก ที่มีการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว"
นายปริญญา กล่าวต่อว่า เบื้องต้นทราบว่าขณะนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์มีความสนใจ ในการเปิดทำการบินใหม่ในเส้นทาง สุวรรณภูมิ-เบตง ปัจจุบัน ทย.ได้รับรายงานว่าสายการบินฯ อยู่ระหว่างการศึกษาจำนวนผู้โดยสารและจุดคุ้มทุน ที่ทำการบินในเส้นทางนี้
นอกจากนี้ ทย.มีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางวิ่ง (รันเวย์) จาก 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และส่วนประกอบอื่นๆ วงเงินรวมประมาณ 1,871 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบและขออนุมัติโครงการ เพื่อเสนอจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2565 นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 3 ปี หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ หรือขนาด 737-800 และขนาดเครื่องบิน A-320