นายกฯเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ สนามบินเบตง จ.ยะลา 14 มี.ค.นี้

11 มี.ค. 2565 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 10:16 น.

"โฆษกรัฐบาล"เผย นายกฯเตรียมเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา จันทร์ที่ 14 มี.ค.นี้ รองรับการท่องเที่ยว การพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานเปิด “เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา” วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565 ณ อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานเบตง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
 

 

สนามบินเบตง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 อาคารที่พักผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี ทางวิ่งหรือรันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR 70-80 ที่นั่ง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของสนามบินเบตง จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์  ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม

 

เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่

สนามบินเบตง จังหวัดยะลา เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ในขณะนั้นเห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2561) เพื่อจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอําเภอเบตงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น 

 

นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลในเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ด้วย อีกทั้งสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างการพาณิชย์ในระดับประเทศและต่างประเทศ

 

ส่งเสริม ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา

การรองรับตลาดการท่องเที่ยว การพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐปีนัง เคดาร์ เปรัค ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดน

 

พัฒนาสภาพสังคม จิตวิทยา การเมือง การปกครองของ ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งเพื่อสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายเปิดการค้าเสรีอาเซียนของรัฐบาล