นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “เอ็กโก กรุ๊ป” มุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยีดิสรัปชันและเทรนด์โลก เพื่อให้สอดรับกับทิศทางในการดำเนินธุรกิจ “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” ด้วยการมุ่งสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573 จากฐานปี 2564
ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เอ็กโก้เอ็กโกตั้งเป้าภายใน 10 ปี หรือภายในปี 2573 จะมีพลังงานหมุนเวียน และ Smart Energy Solution เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมด จากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,364 เมกะวัตต์ หรือราว 23% ทั้งจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง (รวมพลังน้ำ) โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วทั้งในและต่างประเทศ ที่สามารถลดปริมาณการปล่อยการคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้คิดเป็น 2.89 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tonCo2)
ขณะที่การลงทุนในช่วง 5 ปี (2565-2569) ได้ตั้งงบลงทุนไว้ราว 1.5 แสนล้านบาท หรือปีละ 30,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าที่ยังเป็นธุรกิจหลัก ขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน และเกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจเชื้อเพลิง เช่น การจัดหาและค้าส่งก๊าซแอลเอ็นจี โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง Smart Energy Solution เพิ่มมากขึ้นเพื่อรับเทรนด์พลังงานโลก ซึ่งการลงทุนในปีนี้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 5,959 เมกะวัตต์
โดยในส่วนของงบ 8,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนใน 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม “หยุนหลิน” ในไต้หวัน ปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้น160 เมกะวัตต์ ระยะแรก 80 เมกะวัตต์ ที่เริ่มทยอยปักเสากังหันลมแล้ว จะเริ่มขายไฟฟ้าภายในปี 2565 และระยะที่ 2 กำลังผลิตอีก 80 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปีนี้ โครงการโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” ใน สปป.ลาว ที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 161.08 เมกะวัตต์ หรือ 25% และโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เอ็กโก กรุ๊ป เข้าลงทุนสัดส่วน 44.6 % ในบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ส่วนที่เหลืออีก 2.2 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนในโครงการลงทุนใหม่ในอนาคต ในลักษณะการเข้าซื้อกิจการ (M&A)
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไฮโดรเจน โดยที่ผ่านมาได้ลงนามเอ็มโอยู ร่วมกับพันธมิตร และ กฟผ. ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แบบแข็ง (SOFC) และเทคโนโลยีแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (SOEC)” ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต ด้วยจุดเด่นด้านการติดตั้งที่ง่ายและยืดหยุ่น การผลิตไฟฟ้าที่สม่ำเสมอและเชื่อถือได้ รวมทั้งมีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศและน้ำที่ต่ำมากจนเกือบจะเป็นศูนย์ จึงเป็นการปิดจุดอ่อนของการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมกำลังผลิตประมาณ 600 เมกะวัตต์
รวมทั้งจัดตั้งบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 40% บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ถือหุ้น 30% และเอ็กโก้ถือหุ้น 30% ด้วย 600 ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน เช่น ธุรกิจนวัตกรรม, power pool, ระบบกักเก็บพลังงาน, Smart Grid, ยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี ไว้ราว 2,960 ล้านบาท
อีกทั้ง เอ็กโก้ได้ถือหุ้น 17.46% ใน บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ทั้งจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และแหล่งพลังงานแบบกระจายตัว รวมทั้งเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาด ตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง หรือเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ แล้วขายโครงการที่พัฒนาเหล่านั้น ให้แก่นักลงทุนอื่นๆ
ปี 2564 เอเพ็กซ์ได้จำหน่ายโครงการพลังงานลมไปแล้ว 2 โครงการ กำลังผลิต 496 เมกะวัตต์ รับรู้กำไรจากการดำเนินงานของเอเพ็กซ์ จำนวน 435 ล้านบาท ปัจจุบันเอเพ็กซ์มีโครงการพลังงานสะอาดที่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการ รวมกำลังผลิต 422 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม กำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ ขณะที่มีโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม 60 โครงการ รวมกำลังผลิต 22,303 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม 125 โคงการ รวมกำลังผลิต 19,979 เมกะวัตต์
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3765 วันที่ 13 – 16 มีนาคม 2565