"เอ็กโก กรุ๊ป" ลั่นปี 64 กำลังผลิตไฟฟ้าเกิน 1 พันเมกะวัตต์

23 พ.ย. 2564 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2564 | 20:35 น.

เอ็กโก กรุ๊ป คาดกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 64 เกิน 1 พันเมกะวัตต์ พร้อมอวดกำไรการดำเนินงานไตรมาส 3/64 กว่า 3,200 ล้านบาท เดินหน้าดันธุรกิจมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในปี 64 คาดว่าจะมีกำลังผลิตใหม่เกินเป้าหมายที่ 1 พันเมกะวัตต์ เนื่องจากบริษัทมีการการลงทุนใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจนซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เป็นโครงการแรก 
และการเข้าไปลงทุนใน เอเพ็กซ์ บริษัทพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เอ็กโก กรุ๊ป มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่โครงการใหม่อีกหลายโครงการในอนาคต โดยรัฐบาลสหรัฐวางแผนเพิ่มกำลังผลิตพลังงานทดแทน เป็น 1 ล้านเมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2035 

ทั้งนี้ การที่บริษัทเข้าไปปักธงลงทุนในสหรัฐก็มีโอกาสเติบโตมากขึ้น โดยในส่วนของเอเพ็กซ์ก็มีกำลังผลิตตามแผนราว 3 หมื่น เมกะวัตต์ ในขณะที่บริษัทยังมีดีลในการเจรจาซึ่งจะเพิ่มกำลังผลิตได้อีกใน 8 ประเทศที่ลงทุน ขณะที่ตามแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2568 ) จะมีเงินลงทุนรวม 1.5 แสนล้านหรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
สำหรับการพัฒนาธุรกิจในประเทศ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมกับ กลุ่ม กฟผ. จัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งจะเป็นบริษัทเรือธงด้านนวัตกรรมไฟฟ้าของกลุ่ม กฟผ. ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมพลังงาน ในขณะเดียวกัน บริษัทนี้จะช่วยเสริมสร้างฐานธุรกิจ Smart Energy Solution ของเอ็กโก กรุ๊ป ให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วย

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป

นายเทพรัตน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การด้อยค่าของสินทรัพย์ การวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน และการรับรู้รายได้แบบสัญญาเช่า) 3,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 370 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี

นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงานของเหมืองถ่านหินเอ็มเอ็มอีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกถ่านหินและราคาขายถ่านหิน อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพาจูลดลง เนื่องจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 414 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เมื่อพิจารณากำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,074 ล้านบาท ลดลง 1,193 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 3,170 ล้านบาท ลดลง 3,759 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกระทบทางบัญชีที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากการแปลงมูลค่าหนี้สินระยะยาวเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินบาทจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท และการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน
ด้านโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลหยุนหลิน ในไต้หวัน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 71% โดยปัจจุบันกังหันลม 2 ต้น จำนวน 16 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน และ 11 พฤศจิกายน 2564 ตามลำดับ 
ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในปี 2564 ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว ก่อสร้างแล้วเสร็จ 94% นอกจากนี้ ยังมีโครงการธุรกิจพลังงาน ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 89% ในขณะที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ
อย่างไรก็ดี ทิศทางการลงทุนในอนาคตนั้น ยังมุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ในขณะเดียวกัน ได้เร่งขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนยังมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573”
“บริษัทได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth โดย Cleaner ลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ Smarter สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ประเภท New S-Curve เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีดิสรัปชัน และ Stronger สร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน”