น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอ
สำหรับคณะทำงานเฉพาะกิจ FATF นี้ เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จัดตั้งขึ้นโดยที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 ในปี 2532 ปัจจุบันมีสมาชิก 39 ราย และมีเครือข่ายความร่วมมือ 9 แห่ง ในทุกภูมิภาคของโลก
โดยทำหน้าที่ส่งเสริม และติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating Financing of Terrorism: AML/CFT)
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อผลักดันการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT)
รวมทั้งเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง รวมถึงการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินระหว่างประเทศ
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการหลังจากไทยมีหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก FATF ภายในเดือนมีนาคม 2565 แล้ว ที่ประชุมใหญ่ FATF จะพิจารณาข้อมูล เช่น ขนาด GDP ขนาดภาคธุรกิจ ขนาดประชากร อิทธิพลต่อระบบการเงินโลก
พร้อมทั้งพิจารณาเดินทางเยือนไทยเพื่อประเมิน และภายในปี 2566 หากผลการเยือนเป็นที่น่าพอใจ ที่ประชุมใหญ่ FATF จะพิจารณาเชิญประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม FATF ในฐานะผู้สังเกตการณ์เป็นเวลา 3 ปี แล้วจะทำการประเมิน เพื่อพิจารณารอบสุดท้ายในการให้สมาชิกภาพกับไทยต่อไป
“การเข้าเป็นสมาชิก FATF ของไทย จะเพิ่มบทบาทการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในเวทีระหว่างประเทศ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี ในฐานะประเทศที่มีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต” น.ส.รัชดา กล่าว
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการเข้าเป็นสมาชิก FATF ของไทย จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม ซึ่งขึ้นกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ โดยปัจจุบันมีค่าธรรมเนียมสมาชิกอยู่ระหว่าง 1.68 - 46.77 ล้านบาท
ทั้งนี้มีการประมาณการค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปีของประเทศไทยจาการคำนวณจากสถิติเชิงปริมาณจะอยู่ระหว่าง 2.65 – 2.95 ล้านบาท นอกจากนี้ในปีถัดไปค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-6% ขึ้นอยู่กับขนาดของจีดีพี และกิจกรรม หรือโครงการของ FATF ในแต่ละปี