พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่า ได้มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจที่มีอยู่กว่า 50 แห่ง ทบทวนบทบาทของตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยังต้องหาทางดูแลประชาชนให้ได้มากขึ้นด้วย
“การประชุมวันนี้เป็นการรายงานผลงานปฏิบัติงานประจำปีออกมาที่มีทั้งรายได้ดี ในระดับดีขึ้นมาก ดีขึ้นเล็กน้อย แต่บางหน่วยงานก็ยังขาดทุนอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของการให้บริการประชาชน เพราะนี่คือหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจของเรา ที่มีอยู่ 50 กว่าแห่ง โดยกำลังมีการทบทวนบทบาทว่าจะทำอย่างไรให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการสอบถามหลายอย่าง เช่น เรื่องการจัดหาหัวรถจักร และรถเมล์ใหม่ คาดว่า ภายในปีนี้ จะมีทั้งหัวรถจักร และรถยนต์ขนส่งมวลชนรุ่นใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเร่งรัดทุกเรื่อง เพื่อเอามาช่วยดูแลประชาชนให้ได้ทุกภาคส่วน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการทำงานให้ทุกรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ขอให้คณะกรรมการทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวัง ทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ได้มากที่สุด
พร้อมฝากให้คณะกรรมการทุกคนพิจารณาว่า ปัญหาในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีพื้นฐานของปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ไขได้อย่างไร โดยไม่เป็นการบริหารงานแบบเดิม ๆ ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เกิดความเชื่อมั่น ให้เดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจที่พบว่า มีผลการดำเนินงานหลายอย่างที่ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าเป็นการดีขึ้นจากการประกอบการจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นรายได้จากธุรกิจอื่นมาประกอบ เช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การขายทรัพย์สินหรือให้เช่าพื้นที่ รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง
ขณะที่ในส่วนของผลการประกอบการหลักยังขาดทุนอยู่ จึงต้องแยกส่วน รายละเอียดออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้เจอปัญหาที่จะต้องแก้ไขในทุกรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐวิสาหกิจต้องเร่งแก้ปัญหาเก่าและเดินหน้าใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต
อย่างไรก็ตามที่ประชุม คนร. ยังได้พิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 เน้นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป
2. การดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง มีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ เช่น
3. การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปี 2563 - 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการประเมินที่ดีขึ้น โดย คนร. ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะวิกฤติต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ