GCNT เปิด 5 เมกะเทรนด์ SDGs ธุรกิจปรับตัวสู้โลกร้อน

16 มี.ค. 2565 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 19:10 น.

GCNT ทำรายงาน “SDGs Mega Trends 2022” เผย “ผู้นำองค์กร” คือบุคคลสำคัญกำหนดทิศทางและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจลดโลกร้อน พร้อมเผย 5 เมกะเทรนด์ ธุรกิจต้องปรับตัว

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เผยแพร่รายงาน “SDGs Mega Trends 2022” แนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปีนี้ชูเรื่องการปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือเทรนด์สำคัญที่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจและเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้   

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้จัดทำ SDGs Mega Trend 2022 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งประเด็นเด่นในปี 2565 นี้ หนีไม่พ้นเรื่องของการป้องกันและแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตที่ทุกคนต้องเผชิญและร่วมแก้ไขไปด้วยกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีศักยภาพและบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืน โดย “ผู้นำองค์กร” คือบุคคลสำคัญที่กำหนดทิศทางและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความท้าทายนี้

SDGs Mega Trends ปีนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลของ UN Global Compact ที่ได้สำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,232 ท่าน จาก 113 ประเทศ จาก 21 ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเตรียมการขององค์กรธุรกิจเหล่านั้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมบทสัมภาษณ์พิเศษของ 6 ซีอีโอ จาก 6 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ที่ประกาศความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเร่งลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

 

พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายและการวัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ สู่ความยั่งยืน ที่สามารถนำมาปรับใช้ในห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการวางนโยบาย กลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งทุกองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

“ผมหวังว่า การสร้างความตระหนักรู้ผ่านการจัดทำ SDGs Mega Trends ทุกปีนี้ จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในวงกว้าง ไม่จำกัดเพียงภาคธุรกิจเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภายใต้กรอบ Bio-Circular-Green ที่รัฐบาลส่งเสริม การใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอ้างอิงวิถีจากธรรมชาติ (Nature-based Solutions) การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะพลังงานสะอาด รวมทั้งการให้ความสำคัญด้านสังคมที่ไม่ควรมองข้าม คือ การเคารพสิทธิมนุษยชนและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ”

SDGs Mega Trends 2022 หรือประเด็นเด่นเกี่ยวกับการร่วมป้องกันและแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปีนี้ ประกอบด้วย

  1. Business Model Transition การทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจสีเขียวรวมถึงทางเลือกธุรกิจที่ยั่งยืนใหม่ ๆ ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่า ประยุกต์หรือพัฒนาธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ก้าวทันทิศทางโลกสอดรับกับวิถีแห่งอนาคตของสังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  2. Green Innovation การลงทุนเพื่อนวัตกรรมในเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานสะอาด สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียวเหล่านี้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีมลพิษต่ำ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการผลิตและการบริการ รวมถึงการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกัน
  3. Circular Economy การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
  4. Nature-based Solutions การเยียวยาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้กระบวนการที่พึ่งพิงธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เช่น การใช้ต้นไม้และป่าประเภทต่าง ๆ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อันจะส่งผลดีต่อมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สร้างความมั่นคงให้ถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ฟื้นคืนความอุดม สมบูรณ์แก่พืชพรรณ รวมถึงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
  5. Human Rights การเคารพสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตและบริการ คุ้มครองกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Just Transition) ตั้งแต่การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร อุตสาหกรรมต้นน้ำ ผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนอาชีพและการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง ดูแลสวัสดิภาพ และการฝึกทักษะใหม่ๆ ของแรงงาน

รายงาน SDGs Mega Trend ปีนี้ ยังนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษ 6 ซีอีโอองค์กรชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของ GCNT ถึงวิสัยทัศน์และทิศทางการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อน ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับการสร้างสมดุลธุรกิจสู่พลังงานสีเขียว บริษัท เดอะครีเอจี้ จำกัด กับภารกิจขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เมืองคาร์บอนต่ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กับการสร้างความมั่นคงทางอาหารสู่เป้าหมาย “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” เส้นทางสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของกลุ่มมิตรผล และการผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจรของอินโดรามา เวนเจอร์ส