ค่าไฟขึ้นเดือนพฤษภาคมเท่าไหร่ ผู้ใช้ต้องจ่ายกี่บาทต่อหน่วย เช็กเลย

17 มี.ค. 2565 | 05:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 11:38 น.

ค่าไฟขึ้นเดือนพฤษภาคมเท่าไหร่ ผู้ใช้ต้องจ่ายกี่บาทต่อหน่วย เช็กเลยที่นี่ กกพ.เผยสาเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ค่าไฟขึ้้นอีกครั้งในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 65 หลังจากที่งวดเดือนมกราคม- เมษายน 65 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนดังกล่าว โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

 

ล่าสุดนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย

สำหรับปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีมาจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

 

ทำให้ กกพ. ต้องปรับสมมุติฐานการประมาณการ ค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์ที่ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน 

 

“ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นส่งผลให้ประมาณการค่าเอฟที ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย และหากพิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟที งวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย"

 

ค่าไฟขึ้นเดือนพฤษภาคมเท่าไหร่ ผู้ใช้ต้องจ่ายกี่บาทต่อหน่วย

 

นายคมกฤช กล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 ตามข้อเสนอของ กฟผ. ประกอบด้วย

 

  • ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 เท่ากับประมาณ  68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2565) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.21%
  • สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 19.46%  และ ลิกไนต์ของ กฟผ. 8.32% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 8.08% พลังน้ำของ กฟผ. 2.58% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.01% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 0.19% และอื่นๆ อีก 6.25%

 

  •  ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.– เม.ย. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ม.ค.– เม.ย. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ 

 

  • อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 31 มกราคม 2565) เท่ากับ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุด ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป. ลาว โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทินก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสมและมาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา 

ร่วมกับมาตรการการนำ “Energy Pool Price” มาใช้ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมสามารถทำให้ค่าเอฟทีลดลง เป็นผลให้ปรับขึ้นค่าเอฟที ในงวดนี้เพียง 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ ตามแนวทางจากภาคนโยบาย กฟผ. จะแบกรับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในงวดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดไว้ก่อน และจะทยอยเรียกคืนค่าเอฟทีเมื่อราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง