นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม ได้เห็นชอบในหลักการให้แยกชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วพรีเมียม ออกจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วโดยมีแนวทางจะลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันในดีเซลหมุนเร็วพรีเมียม
ทั้งนี้ ได้มอบให้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ไปดำเนินการในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอ กบน. ต่อไป
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 10% โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 20% โดยปริมาตร
และยังคงขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประกอบกับสถานการณ์สงครามยูเครนและรัสเซีย
ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่กระทรวงพลังงานได้ดูแลประชาชน โดยการตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
ซึ่งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้จ่ายเงินชดเชยก๊าซ LPG รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 22,614 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบสูงถึง 28,093 ล้านบาท ซึ่งหากปัจจุบันไม่มีการอุดหนุน ราคาก๊าซ LPG จะอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
ดังนั้น เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับขึ้นราคา LPG 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ทำให้ราคาขายปลีก จะปรับเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมในเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ของประเทศไทยยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศแม้ว่าจะมีการปรับราคาขึ้น และเพื่อมิให้ส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนมากเกินไปที่ประชุม กบง. ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซ LPG โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 200 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซ LPG โดยการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
และให้ ธพ. ขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง. ยังได้เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม ละนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่นๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่
และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดย กบง. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป