แม้รัฐบาลโดยคณะกรรม การนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม เป็นประธาน มีนโยบายเร่งรัดสะสางปัญหาที่อยู่อาศัยทำกินของราษฎรในเขตป่าหรือที่ของรัฐ ให้เกิดความชัดเจน แต่กรณีเขตอุทยานฯทับลาน ทับซ้อนที่อาศัยทำกินของราษฎรต.ไทยสามัคคี อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา ที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี แม้มีมติครม.วางแนวทางแก้ปัญหาในกำหนด 120 วัน แต่ข้ามปียังไม่มีอะไรคืบหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภัคพล เขียวสลับ ในฐานะตัวแทนราษฎรอ.วังนํ้าเขียว ผู้ได้รับความเดือดร้อน จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) อีกครั้ง เพื่อขอให้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อำเภอวังนํ้าเขียว มีเนื้อหาระบุว่า
ราษฎรอำเภอวังนํ้าเขียวได้ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน และป่าสงวนต่างๆ จำนวนกว่า 400 คดีตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ประชาชนได้เข้ามาอยู่อาศัยทำกิน ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯทับลาน ในปี พ.ศ. 2524 มานานแล้ว
และข้อสำคัญการประกาศเป็นเขตอุทนยานฯครั้งนี้ ได้กระทำการฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติของกฎหมาย โดยไม่ได้มีการปักปันแนวเขต หรือทำเครื่องหมายอื่นใดไว้ตามสมควร เพื่อให้ได้ทราบเลย ทั้งการที่ประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยทำกินนั้น ก็ได้เข้ามาอยู่อาศัยทำกินตามโครงการ พระราชดำริ การบริหารจัดการโดยสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
จนกระทั่งมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯใหม่เป็นผลสำเร็จ มีการปักปันแนวเขตอุทยานฯชัดเจน จนเป็นที่รับทราบร่วมกันทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนโดยเรียกว่า “แนวปรับปรุงเขต ปี 2543” และกรมอุทยานฯเองก็ใช้แนวเขตปรับปรุงนี้เสนอต่อองค์การยูเนสโก ในคราวขอให้พิจารณาอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2548 อีกด้วย
หนังสือร้องเรียนของนายภัคพล ระบุต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ราษฎร ทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก จึงได้มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมมาโดยตลอดทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-คณะบริหาร รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ
ซึ่งทุกฝ่ายได้ให้ความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ควรให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเห็นสมควรให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่มีมติคณะรัฐมนตรี
ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมาสู่ปีที่10 ของคดีความแล้ว เมื่อแนวเขตฯที่เป็นปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายทางสำนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ส่งฟ้องศาลทุกคดีแล้ว ขณะเดียวกันกรมอุทยานฯกลับเร่งรัดกันเป็นเขตหมู่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน โดยปักแนวเขตหมู่บ้านเข้าไปอยู่ในเขตอุทยานฯตามกฎหมายใหม่ ทั้งๆ ที่ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือท้วงติงแล้ว
ถือได้ว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการกลั่นแกล้งรังแกประชาชน อีกทั้งอาจทำให้เสียชื่อเสียงประเทศชาติในการไม่ปฎิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อองค์กรนานาชาติได้
นายภัคพล ยํ้าในตอนท้ายว่า จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณามายังท่านรัฐมนตรีวราวุธได้โปรดพิจารณาและเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน และขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
“เพื่อจะได้นำเอกสารเสนอต่อศาลในการชะลอการพิจารณาคดี เพื่อช่วยคลายทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้นได้ทันเวลาด้วย”
ปัญหาประกาศเขตป่าทับ ที่ชาวบ้านสร้างความทุกข์ชาวบ้านไปทั่ว กรณีที่วังนํ้าเขียวมีปัญหาเป็นข้อพิพาทยืดเยื้อ และปะทุเป็นระลอก ทั้งที่ได้ยกเอกสารหลักฐานขึ้นต่อสู้หักล้างกันและกันทุกฝ่าย กระทั่งข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นแนวทางที่ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ แต่หน่วยงานยังไม่ปฎิบัติ ปล่อยให้ชาวบ้านจม 400 คดีในศาลต่อไป
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,767 วันที่ 20-23 มีนาคม พ.ศ.2565