เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี และ รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมต้อนรับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ กรมส่งเสริมการเกษตร และภาคีเครือข่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย และคณะผู้ติดตาม ในโอกาสติดตามการดำเนินงาน “พืชกระท่อมไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก บนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่” ภายใต้โครงการ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยพืชกระท่อมสู่ตลาดโลก”
ในการนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดอาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract แห่งแรกของประเทศไทย และรับฟังการบรรยายเรื่อง การวิจัยพัฒนาและแปรรูปสารสกัดพืชกระท่อมคุณภาพสูง โดยรศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) พร้อมนำคณะเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบสารสกัดพืชกระท่อมคุณภาพสูง ภายใต้การบริหารจัดการ และดำเนินงานโดยศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์
รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center, FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 2 เชิงรุก: นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ
โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะสัตวแพทย์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์สัตว์ทดลอง อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทภาคเอกชน เพื่อสกัดสารมูลค่าสูงสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรม
โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อให้ได้สารสกัดที่มีความบริสุทธิ์สูง และสามารถนำไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Dietary Supplement) อุตสาหกรรมยา (Pharmaceutical) และ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Cosmetics and Personal Care)
รวมถึงการต่อยอดในการสกัดสารออกฤทธิ์ในพืชที่มีศักยภาพ เช่น กัญชา กัญชง หรือกระท่อมได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่“เป็นผู้นำด้านการสกัดสารมูลค่าสูงที่มีความบริสุทธิ์สูง”
ทั้งนี้ อาคารนวัตกรรมสารสกัดมูลค่าสูง iExtract มีครุภัณฑ์ชุดสกัดสารมูลค่าสูง และเครื่องมือต่าง ๆ ได้แก่ ชุดสกัดที่ใช้ตัวทำละลาย ชุดสกัดที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถทำความดันได้สูงถึง 600 บาร์ และเครื่องกลั่นแยกสารระดับโมเลกุลแบบฟิล์มบาง พร้อมปั๊มสุญญากาศ ขนาด 2 นิ้ว Wiped-Film Still With Vacuum Pump
ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนสารสกัดพืชเป้าหมาย ให้สามารถตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ เกิดการลงทุน และเชิงสังคมในด้านการจ้างแรงงาน และเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดว่าจะเกิดการขยายผลทางเศรษฐกิจต่อไปมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี