ภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมครม. ถึง 10 มาตรการเยียวยา ลดค่าครองชีพ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันแพง และสถานการณ์วิกฤตยูเครนและรัสเซีย ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 2565
แม้มาตรการทั้งหมดจะยังต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดในแต่ละมาตรการกลับมาเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา เป็นทางการอีกครั้ง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนดโดยเฉพาะกรอบวงเงินของการดำเนินโครงการ
โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า เบื้องต้นทั้ง 10 มาตรการที่ออกมาจะใช้วงเงินรวมทั้งหมดประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.อีกครั้ง เป็นรายโครงการ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า กรอบวงเงินในการดำเนินการแต่ละเรื่อง จะใช้งบประมาณจากหลายแหล่ง ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ เตรียมจัดทำข้อเสนอมาให้ครม.เห็นชอบ แยกเป็นเงินจาก 3 แหล่งหลัก ๆ ดังนี้
- งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ซึ่งเงินส่วนนี้มีกรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรรไว้ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน วงเงิน 8.9 หมื่นบาท ซึ่งมีการใช้เงินบางส่วนไปแล้วในโครงการเร่งด่วนตามนโนบายรัฐบาล
- พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการกู้เงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาช่วยตรึงราคาน้ำมัน
สำหรับ 10 มาตรการตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงนั้น ประกอบด้วย
- การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
- ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
- ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
- คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
- ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
- ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม
- ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง
- กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
- ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
- ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการออกมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งนี้ต้องให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งนำเสนอครม. เพื่อพิจารณาและอนุมัติเป็นการเร่งด่วน
ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการปรับลดเงินสมทบมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ จากนั้นจึงจะเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ต่อไปเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ค.นี้