สถานการณ์ราคาน้ำมันหนึ่งในต้นทุนสำคัญของภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคบริการและต่อภาคเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน วันที่ 7 มี.ค. 2565 สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือน เม.ย. 2565 แตะที่ 125.87 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดรอบ 14 ปี
ล่าสุด ณ วันที่ 22 มี.ค. 2565 ราคาน้ำมันดิบโลก ตลาดเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 112.12 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อน 7.42% ตลาดเบรนท์อยู่ที่ 115.62 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 7.69% และตลาดดูไบที่ 109.91 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.10% และมีแนวโน้มอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก หลังชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) กำลังพิจารณากำหนดมาตรการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในระหว่างจะมีการประชุมร่วมกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อยกระดับการคว่ำบาตรรัสเซียให้รุนแรงขึ้น
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางศูนย์ฯได้วิเคราะห์ผลกระทบราคาน้ำมันจาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ต่ออุตสาหกรรมไทยและเงินเฟ้อ โดยใช้แบบจำลองเมตริกซ์ (SAM) ร่วมกับแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค พบว่า กรณีที่ 1 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จะกระทบอัตราเงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้น 3.5% มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)จะลดลง 26,017.6 ล้านบาท และ GDP จะหดตัว 0.5%
กรณีที่ 2 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 4.0% มูลค่า GDP ลดลง 148,820.5 ล้านบาท และ GDP หดตัว 1.6% และ กรณีที่ 3 (เลวร้ายสุด) ราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยทั้งปีที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้น 5.0% มูลค่า GDP ลดลง 297,640.9 ล้านบาท GDP หดตัว 2.9%
“จากผลการศึกษาพบว่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใน 3 กรณีจะทำให้รายได้ของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการได้รับผลกระทบด้านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคืออุตสาหกรรมที่ใช้การขนส่งและบริการขนส่งโดยตรง เช่น ค้าส่งค้าปลีก ธนาคารและบริการธุรกิจ กลุ่มเกษตรกรรมที่ต้องใช้น้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิต และหากราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น”
ผลจากเวลานี้โรงไฟฟ้ายังใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนประมาณ 10% ของกระบวนการผลิตและบริการทั้งหมด จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เห็นได้จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.65 อีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีภาระและต้นทุนเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลมีดังนี้ 1.ตรึงราคามันดีเซลใน 2 ไตรมาสหน้า เพื่อไม่ให้ต้นทุนการขนส่งของภาคอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้น (ล่าสุด ครม. 22 มี.ค.65 เห็นชอบตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรถึงสิ้นเดือนเม.ย.นี้) 2.สนับสนุนให้มี “เงินทุนเพื่อพลังงานทางเลือก” โดยให้มีการติดตั้งการใช้พลังงานทางเลือกอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในโรงงาน โดยให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และ 3. น้ำมันราคาถูกจากเพื่อนบ้าน ผ่านโครงการ “น้ำมันราคาถูกเพื่ออุตสาหกรรมไทย” โดยขอซื้อน้ำมันราคาถูกจากมาเลเซียเป็นกรณีพิเศษ จากราคาน้ำมันมาเลเซียถูกกว่าไทย 50%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า หากสหภาพยุโรปมีมติระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันยุโรปพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียสัดส่วน 27% ของการใช้ และพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเพื่อใช้ในภาคครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสัดส่วนถึง 45% หากยุโรประงับการเข้าน้ำมันจากรัสเซียจริง จะทำให้น้ำมันหายไปจากตลาด และราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย
“ต้องจับตา เพราะเยอรมันไม่เห็นด้วย จากเยอรมันพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันส่วนใหญ่จากรัสเซียเพื่อใช้ในครัวเรือน และในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และเตือนทางกลุ่มว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงขึ้นอีก คาดมีอีกหลายประเทศไม่เห็นด้วย เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เหมือน “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” จะทำให้การผลิตและซัพพลายของยุโรปสะดุดและรวนไปหมดจากการขาดแคลนพลังงาน และจะส่งผลกระทบไปทั่วโลกทั้งแง่เศรษฐกิจการค้า การลงทุน”
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า จากราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบต่อเนื่องจากน้ำมัน ค่าขนส่งทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ และต้นทุนด้านกระบวนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นตามค่าไฟฟ้าที่ผันแปรจากราคาเชื้อเพลิง ทั้งนี้หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยิ่งตึงเครียดจะยิ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หากสถานการณ์บานปลายราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งถึงบาร์เรลละ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ
“ไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเกือบ 90% ของความต้องการใช้ เมื่อน้ำมันดิบแพงขึ้นทุก 1 ดอลลาร์ จะทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้น 20-25 สตางค์ต่อลิตร เวลานี้การปรับขึ้นราคาน้ำมันโลก กระทบราคาน้ำมันในไทยปรับขึ้น 5.0-7.50 บาทต่อลิตรเมื่อเทียบกับปลายเดือน ก.พ. 65 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ลดการจับจ่ายใช้สอยเพราะสินค้าแพง และยังส่งผลต่อกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้า เพราะเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนหนึ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้า และอาจมีผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าได้”
สำหรับข้อแนะนำผู้ประกอบการจากราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูง ส่วนหนึ่งต้องมีการปรับปรุงกระบวน การผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานมากขึ้น เช่น จากโซลาร์เซลล์ มีการนำระบบการบริหารจัดการพลังงานมาใช้และปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และมีการบำรุงรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3768 วันที่ 24 -26 มีนาคม 2565