นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยความสำเร็จภารกิจของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรการทดแทนปูนเม็ด ว่า ตามที่
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ร่วมกับ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 3 แสนตัน CO2 ภายในสิ้นปี 2565
ขณะนี้ สามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี
“จากความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายแรกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 แสนตัน CO2 ในสิ้นปีที่ผ่านมา จากแผนเดิมที่วางไว้สิ้นปี 2565" นายชนะกล่าว
การเดินหน้าบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าเป้าถึง 1 ปี เกิดความร่วมมือของ 16 ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา และการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ที่ส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม และจากนี้ เตรียมเดินหน้าทำภารกิจในแผนงานต่อไป โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตัน CO2 ภายในปี2566
จากเดือนสิงหาคม 2563 TCMA ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ 16 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการบรรลุเป้าหมาย 3 แสนตัน CO2 ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ส่วนของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้เกิดเป็นรูปธรรม เริ่มต้นที่งานก่อสร้างประเภทต่างๆ ปรับเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ตาม มอก. 2594 ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์พร้อมสนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐในการลดก๊าซเรือนกระจก 40% จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ตลอดกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ จนเกิดเป็นปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในส่วนของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลกนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ประเทศสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เห็นพ้องที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก UNFCCC และได้ให้สัตยาบันตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2559 ที่จะมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Reduction) และในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คร้ังที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP 26) ในปี 2564 ประกาศยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็น40% พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emission) ในปี 2608