เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงอะไร มีความสำคัญยังไงกับงบประมาณปี 2566

27 มี.ค. 2565 | 21:35 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2565 | 23:06 น.

ความหมายที่แท้จริงของเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบการพัฒนาภายใต้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขคืออะไร มีความสำคัญยังไงกับการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับเหตุผลของการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดทำงบประมาณปี 2566 เป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง กันมาอย่างยาวนานแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ  ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ระดับครัวเรือน องค์กร หรือระดับประเทศ

 

ที่ผ่านมา มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ระบุถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ว่า เกิดขึ้นจากผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม 

 

แม้ว่าผลของการพัฒนา จะมีผลในด้านบวกทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น 

 

แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ

 

รวมถึงการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตก สลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระ มีความสามารถในการควบคุมและจัดการ เพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่าง ๆ รวมทั้งมีความสามารถในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

ความหมายของ เศรษฐกิจพอเพียง

 

เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล 

 

รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน 

 

ขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ

 

ทั้งนี้เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

องค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง 

 

ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันพิจารณากลั่นกรองพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง สรุปออกมาเป็นนิยามความหมาย “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย 

 

พระองค์ได้ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สศช. นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไป โดยสรุปเป็นองค์ประกอบสำคัญ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้

  • ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีต่อความจำเป็นและเหมาะสมกับฐานะของตนเองสังคมสิ่งแวดล้อมรวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
  • ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจดำเนินการอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามโดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างถ้วนถี่ “รู้จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสอุปสรรค” และคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ “รู้เขา รู้เรา รู้จักเลือกนำสิ่งที่ดี และเหมาะสมมาประยุกต์ใช้”
  • การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที

 

สำหรับการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความพอเพียงนั้น จะต้องเสริมสร้างให้คนในชาติมีพื้นฐานจิตใจในการปฏิบัติตน ภายใต้ 2 เงื่อนไขสำคัญ ดังนี้

  • มีคุณธรรม บุคคลครอบครัว องค์กร และชุมชน ที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ต้องนำระบบคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตมาประพฤติปฏิบัติก่อน โดยเริ่มจากการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว การศึกษาอบรมในโรงเรียน การสั่งสอนศีลธรรมจากศาสนา ตลอดจนการฝึกจิต ข่มใจของตนเอง
  • มีความรู้-ใช้หลักวิชา โดยนำหลักวิชาและความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ ทั้งในขั้นการวางแผนและปฏิบัติ ด้วยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวังอย่างยิ่ง

 

เศรษฐกิจพอเพียง กับงบประมาณปี 2566

 

สำนักงบประมาณ ได้จัดทำรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ภายใต้การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ได้ระบุถึงความสำคัญของการจัดทำงบประมาณที่ต้องจัดทำให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นลำดับแรก

 

โดยได้มีการตัดวงเงินของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีคำเสนอขอเข้ามามากถึง 5.4 ล้านล้านบาท ให้เหลือ 3.18 ล้านล้านบาท ซึ่งหนึ่งในกรอบการพิจารณาคือคำของบประมาณที่เสนอเข้ามาจะต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

 

ขณะเดียวกันนอกจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว การพิจารณางบประมาณยังให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การดำเนินภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามแนวทางการพัฒนาประเทศของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 

 

รวมไปถึงนโยบายและแผนระกับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย