กรณีประชาชนร้องเรียน เหตุเสียงดังและฝุ่นควันจากการจุดประทัดแก้บน วัดเจดีย์(ไอ้ไข่)ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กรมควบคุมมลพิษ( คพ.)ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 (สสภ.14 สุราษฏร์ธานี) ลงพื้นที่ติดตามการปรับปรุงและแก้ไขปัญหากับหน่วยงานในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เนื่องจากพลังศรัทธาต่อไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์มีเยอะมาก ทางวัดรับทราบและยินดีสนับสนุนนโยบายลดฝุ่นสร้างอาคารจุดประทัดปลอดมลพิษ จากข้อมูลการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 พบว่า
การจุดประทัดมีการจัดทำผนังปิดกั้นสามด้าน มีเสียงดังและฝุ่นควันจากการจุดประทัดจริง มีน้ำเสียจากการใช้ฉีดพรมดับประทัดเล็กน้อย ทางวัดมีมาตรการระยะสั้นโดยกำหนดให้มีการจุดประทัดครั้งละไม่เกิน 10,000 นัด โดยเจ้าหน้าที่ของวัดเป็นผู้จุด มีการดูแลทิศทางลมและสภาพภูมิอากาศ
กำหนดเวลาจุดในเวลา 09.00-16.00 น. และได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ที่มาวัดรับทราบ สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษา ดูแล ออกแบบ ที่จุดประทัดปลอดมลพิษ ลดเสียงและฝุ่นควัน ซึ่งขณะนั้นได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว คณะผู้ร่วมตรวจสอบ ได้มีข้อเสนอแนะให้วัดมีมาตรการควบคุมกลิ่นและมลพิษอื่นๆ จากการจุดประทัดที่ชัดเจน และเร่งจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง
นายอรรถพล จากการติดตามผลการแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 พบว่า มีการก่อสร้างจุดประทัดปลอดมลพิษแล้วเสร็จ ห่างจากจุดเดิมประมาณ 500 เมตร ออกไปด้านหลังวัด แต่ยังไม่ได้ติดตั้งระบบกำจัดมลพิษ เนื่องจากโควิด-19 ช่างไม่สามารถเข้าทำงานได้ มีการจุดประทัด ณ จุดเดิม
เนื่องจากโควิด-19ทำให้มีคนจุดน้อยมาก (ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ หรือใกล้เคียง เนื่องจากวัดมีมาตรการจำกัดคน) ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่วัด จุดประทัดให้ตรงตามกำหนดเวลาและดูทิศทางลมและจากติดตามล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 โดยนายยงยุทธ พนิตอังกูร ผอ.สสภ.14
ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช อบต.ฉลอง กำนันตำบลฉลอง ตัวแทนวัด และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาคารจุดประทัด พบว่า ปัจจุบันระบบเก่ามีการจุดประทัดประมาณ 1-2 ล้านนัดต่อวัน ระยะ 1-2 ชั่วโมงจุดหนึ่งครั้ง
ในส่วนระบบใหม่การก่อสร้างอาคารจุดประทัดพร้อมติดตั้งระบบกำจัดมลพิษดำเนินการแล้วเสร็จ โดยใช้ระบบจำกัดมลพิษแบบห้องเผาควันด้วยระบบน้ำมัน อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบและแก้ไขปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเดือนเมษายน 2565 สามารถรองรับการจุดประทัดได้วันละ 5 ล้านนัด
การทำงานของระบบกำจัดมลพิษโดยเมื่อจุดประทัดแล้วควันในห้องจะถูกดูดโดยมอเตอร์ดูดอากาศ จำนวน 6 ตัว เข้าเตาเผาควันที่อยู่บนหลังคาอาคาร มีหัวเผาด้วยน้ำมัน จำนวน 2 หัวเผา แล้วระบายควันออกสู่ภายนอก มีระบบสเปรย์น้ำเพื่อดับไฟและลดฝุ่นควันภายในอาคาร
โดยใช้น้ำปริมาณน้อยจึงไม่เกิดน้ำเสียออกสู่ภายนอก ทั้งนี้ จากการทดสอบการจุดประทัด จำนวน 200,000 นัด ปรากฏว่า ในห้องมีฝุ่นควันเยอะมาก แต่จะถูกดูดขึ้นไปเผาด้านบนอีกครั้งและระบายควันออกมาด้านนอกเล็กน้อย แต่เสียงยังดังอยู่ เมื่อมีการใช้งานจริง
คพ.จะติดตามการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วัดและประชาชนพัฒนาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นายอรรถพลกล่าว