นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเข้าร่วมพิธีส่งออกไก่แปรรูป ตู้ปฐมฤกษ์ของไทยไปซาอุดิอาระเบีย ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ (มีนบุรี 2) ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะไก่
ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมายที่มีความสำคัญหลังจากที่ไทยขาดโอกาสไปตลอด 18 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อตนเข้ามารับหน้าที่ เป้าหมายหนึ่งที่ตั้งไว้ คือ การฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับซาอุดิอาระเบีย โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร และประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับทางการซาอุดิอาระเบียจนคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซาอุดิอาระเบียตรวจโรงงานและให้การรับรองแล้ว 11 โรงงาน ที่ได้คุณภาพมาตรฐานที่จะส่งออก
และหลังจากนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบีย ตนได้สั่งการอีกครั้งให้ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตร และผู้แทนสถานทูตไทยประจำซาอุดิอาระเบียเดินทางไปพบกับองค์การอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) และในที่สุดได้ออกประกาศผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565 อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบียได้แล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ช่วยประสานงาน ดูแลมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียนำเข้าไก่ 75% จากประเทศบราซิล 25% จากยูเครนและฝรั่งเศส แต่จากนี้ไป คาดว่าไก่จากประเทศไทย จะเป็นตลาดสำคัญที่ซาอุดิอาระเบียจะนำเข้าเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลกประมาณ 900,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศประมาณ 100,000 ล้านบาท และปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะทำได้ 980,000 ตัน ซึ่งการส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มตัวเลขการส่งออกไก่ของไทยให้เพิ่มขึ้นแน่นอน
“ซีพีเอฟที่เป็นโรงงานแรกที่ได้ส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบียตู้ปฐมฤกษ์ หลังจากที่ขาดหายไป 18 ปี และจากนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานสำคัญที่จะประสานงานกับซาอุดิอาระเบียเพื่อนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบีย เพื่อไปขายสินค้า ทำตัวเลขส่งออกให้เพิ่มขึ้น โดยในการเดินทางไปเยือน ขอเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมได้”
ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงงานของซีพีเอฟได้รับการรับรองจำนวน 5 โรงงาน ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมมือประสานงานกับซาอุดิอาระเบียจนสามารถส่งออกไก่ไทยไปได้ และเชื่อว่า จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกไก่ของไทยได้เพิ่มขึ้น
“วันนี้ได้ส่งมอบไก่ล็อตแรกไปยังซาอุดิอาระเบียเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 และเดือนนี้คาดว่าจะส่งออกได้ 600 ตัน มูลค่า 47 ล้านบาท และภายในสิ้นปีจะส่งออกได้ 300 ตู้ ปริมาณ 6,000 ตัน มูลค่า 400-500 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถทำได้ถึง 60,000 ตัน ภายใน 5 ปี หรือมูลค่า 4,200 ล้านบาท ทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปที่ผ่านกระบวนการมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัดตามหลักศาสนาอิสลาม ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า ซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) และปัจจุบันซาอุดิอาระเบียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 6.5 แสนตัน โดย 70% เป็นการนำเข้าไก่สดทั้งตัว และ 30% เป็นการนำเข้าไก่ชำแหละและไก่แปรรูป ผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่ 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตันต่อปี